สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 พ.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 พ.ค. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ที่ยังไม่มีความคืบหน้าอาจจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้และฉุดรั้งเศรษฐกิจให้อ่อนแอลงอีก

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 32,799.92 จุด ลดลง 255.59 จุด หรือ -0.77%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,115.24 จุด ลดลง 30.34 จุด หรือ -0.73% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,484.16 จุด ลดลง 76.08 จุด หรือ -0.61%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันพุธ (24 พ.ค.) จากแรงเทขายลอตใหม่ซึ่งฉุดตลาดลงวันเดียวมากที่สุดในรอบ 2 เดือน ท่ามกลางความวิตกว่าแทบไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐ ขณะที่การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอังกฤษ และการที่หุ้นกลุ่มสินค้าหรูหราร่วงลงอีกนั้นได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขาย

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.65 จุด ร่วงลง 8.45 จุด หรือ -1.81%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,253.46 จุด ลดลง 125.25 จุด หรือ -1.70%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,842.13 จุด ลดลง 310.73 จุด หรือ -1.92% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,627.10 จุด ลดลง 135.85 จุด หรือ -1.75%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันพุธ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าเงินเฟ้อที่ระดับสูงในอังกฤษ จะทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐส่งผลกระทบต่อตลาดด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,627.10 จุด ลดลง 135.85 จุด หรือ -1.75%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 2% ในวันพุธ (24 พ.ค.) ขานรับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 74.34 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.52 ดอลลาร์ หรือ 1.98% ปิดที่ 78.36 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (24 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 9.90 ดอลลาร์ หรือ 0.50% ปิดที่ 1,964.60 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 38.40 เซนต์ หรือ 1.63% ปิดที่ 23.24 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 28.10 ดอลลาร์ หรือ 2.66% ปิดที่ 1,029.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 48.60 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 1,398.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% แตะที่ระดับ 103.8847

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.1400 เยน จากระดับ 138.5240 เยนในวันอังคาร (23 พ.ค.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9051 ฟรังก์ จากระดับ 0.9013 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3598 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7255 โครนา จากระดับ 10.6239 โครนา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0750 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0775 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2361 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2417 ดอลลาร์

Back to top button