BAY ตั้งเป้าปล่อยกู้ “ธุรกิจข้ามชาติ” ปีนี้โต 3% เชื่อนลท.ญี่ปุ่นแห่ลงทุนไทย
BAY เชื่อนักลงทุนญี่ปุ่นแห่เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง ชูไทยมีทักษะหลายด้านดันธุรกิจเติบโตได้ ไม่สนปมปัญหาการเมืองไทย ขณะนี้กลุ่มยานยนต์-เคมีฯ ยังเป็นกลุ่มหลักเข้ามาลงทุน แบงก์จับจังหวะดันสินเชื่อธุรกิจข้ามชาติปีนี้โต 3% พร้อมส่งบริการใหม่ “ASEAN LINK” ช่วยปูพรมขยายฐาน
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติปีนี้เติบโต3% ใกล้เคียงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่คาดศูนย์วิจัยกรุงศรี มองจีดีพีปีนี้โตที่ระดับ 3.3% เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ไม่กระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย
เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านในการหนุนให้ธุรกิจลูกค้าเติบโตต่อเนื่อง ทั้งเรื่องทักษะแรงงาน ระบบขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทุน ฯลฯ ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นยกให้ไทยติด 1ใน3ที่นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกเข้ามาลงทุนมากที่สุด โดยธุรกิจกลุ่มยานยนต์และกลุ่มเคมีฯเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง จากซัพพลายเชนและบริการของธนาคารกรุงศรีฯหนุนให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโต ขณะที่เรื่องของการเมืองไทยด้านงบประมาณ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเรื่องค่าแรงยังคงต้องติดตามต่อไป
โดยปี 2566 ธนาคารให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่ออาเซียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของกรุงศรีฯ โดยยกระดับบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยบริการใหม่ ‘ASEAN LINK’ ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตใน 9 ประเทศทั่วทั้งอาเซียน และต่อยอดได้ในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG
สำหรับบริการ Krungsri ASEAN LINK เป็นศูนย์กลางบริการด้านการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และMUFGมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย พร้อมเสนอโซลูชันทางการเงินให้กับลูกค้าแบบ Tailor-made เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อการควบรวมกิจการและการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค การให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษีอากร และการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรุงศรีฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ในการต่อยอดการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนช่วยผลักดันสตาร์ทอัพสู่เวทีอาเซียนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบความยั่งยืน (ESG) ด้วย