โบรกมอง “ธปท.” คุมเข้มสินเชื่อ BBL-KTB ไร้กระทบ
โบรกมองกลาง “หุ้นแบงก์” หลัง ธปท.เตรียมคุมเข้มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ 1 พ.ย.นี้ พร้อมยก BBL-KTB ขึ้นเป็นท็อปพิกกลุ่ม หลังไม่มีบริษัทลูกทำธุรกิจลีสซิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน อ้างอิงแหล่งข่าวจากธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้มีการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเบื้องต้นภายในกลางเดือน มิ.ย. จะเริ่มมีการทำ Focus Group หารือประกาศ ธปท. และแบบรายงานข้อมูลสำหรับกลุ่มบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์, ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) และ captive finance
ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1 ส.ค. พ.ร.ฎ.จะสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ และจะชี้แจง และรับฟังความคิดเห็น (Hearing) คาดจะใช้เวลาทั้งสิ้น 90 วัน ซึ่งจะทำให้ พ.ร.ฎ. จะมีผลบังคับใช้ใน 1 พ.ย.
โดยจากกรณีดังกล่าว บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (6 มิ.ย.66) มีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจาก 1) ครม. มีการอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. กำกับธุรกิจเช่าซื้อรถและลีสซิ่งอยู่ใต้กฎหมายสถาบันการเงิน ให้อำนาจแบงก์ชาติดูแลตรวจสอบได้ตั้งแต่ มี.ค. 66 ที่ผ่านมาแล้ว, 2) ประเมินว่าการเข้ามาควบคุมในครั้งนี้จะเป็นการควบคุมด้านการดำเนินงาน และ market conduct ให้มีความโปร่งใส และเปรียบเทียบได้มากขึ้น
ขณะที่ 3) คาดว่า ธปท. จะยังไม่เข้ามาควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อเพิ่มเติมจากที่ สคบ.ควบคุมในช่วง ม.ค. 66 ที่ผ่านมา (รถยนต์ใหม่ 10% รถยนต์เก่า 15% และรถจักรยานยนต์ 23%) เนื่องจาก ธปท. ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้ทำ hearing ช่วงที่ สคบ. จะทำควบคุมในปี 65
สำหรับกลุ่ม Finance มองเป็นกลาง โดยคาดว่า ธปท. มีโอกาสที่จะเป็นการควบคุมด้านค่าปรับ และเกณฑ์ LTV มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อได้ทยอยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีระบบมากขึ้น รวมทั้งได้ปรับลด LTV เป็น 80-90% (เดิม 100%) และเพิ่มเงินดาวน์ ภายหลังที่มีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตั้ง แต่ ม.ค. ที่ผ่านมาแล้ว
ทั้งนี้คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม Finance “มากกว่าตลาด” จาก NPL ที่จะผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 2/66 และจะทยอยดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 66 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ภายใต้สมมติฐานที่ กนง.จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังของปี 66 จากเงินเฟ้อที่ดีขึ้น โดยมี top pick เป็น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท)
สำหรับกลุ่มธนาคารมองเป็นกลางหากมีการปรับเกณฑ์เฉพาะเรื่อง market conduct เพราะกลุ่มธนาคารอยู่ภายใต้ ธปท. ที่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว แต่หากมีการควบคุมเรื่องค่าปรับ หรือ LTV ก็จะเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่มธนาคารที่มีบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจลีสซิ่ง เช่น KLeasing (ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK), T-Leasing (ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB), SCB Leasing (ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), KTB Leasing (ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB) และ Hi-Way (บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO) ได้
โดยยังคงต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ธปท. อีกครั้ง ทั้งนี้ยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” และเลือก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 195 บาท) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 21 บาทเป็นท็อปพิกกลุ่ม