NPS พัฒนา “โซลาร์ลอยน้ำ” ใหญ่อันดับต้นของโลก ป้อนลูกค้าอุตสาหกรรม

NPS พัฒนาโครงการ “โซลาร์ลอยน้ำ” ใหญ่อันดับต้นของโลก เสริมธุรกิจ พลังงานสะอาดแบบผสมผสาน “Solar Biomass Hybrid Renewable Energy” ป้อนลูกค้าอุตสาหกรรม


นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินการโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ หรือ “Floating Solar Farm” ระยะที่ 1 ขนาด 60 MW บนบ่อน้ำขนาด 1,200 ไร่ของบริษัทฯ ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีแผนเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 และอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง Floating Solar Farm ระยะที่ 2 ขนาด 90 MW โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 1/2567  และจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการ Floating Solar Farm รวม 150 MW ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว

“ปัจจุบัน NPS มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 770 MW โดยเป็นการผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) จำนวน 433 MW และเมื่อรวมกับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 150 MW จะทำให้บริษัทสามารถผลิตพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน (Solar Biomass Hybrid Power Generation) ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ควบคู่กับการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด NPS ยังได้ร่วมมือกับสวนอุตสาหกรรม 304 (304IP) จัดตั้งบริษัทฯ บริหารจัดการสวนอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนา 304IP อย่างบูรณาการ พร้อมกับเสริมศักยภาพหน่วยงานการตลาดและการขายพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มการให้บริการเพื่อช่วยประสานงานให้การจัดตั้งโรงงานและดำเนินงานของผู้ประกอบการใน 304IP เป็นไปอย่างราบรื่น

นายโยธิน กล่าวอย่างมั่นใจว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจของ NPS จากการเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และขายไฟฟ้ารายย่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำดิบที่มีคุณภาพและเสถียรภาพแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และการที่จำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในสวนอุตสาหกรรม 304 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงกระแสการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกจากประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศในทวีปยุโรปมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นด้วย ประกอบกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของทีมผู้บริหารที่มีความชำนาญ มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์สูงจะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ NPS เติบโตไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

“สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 NPS มีรายได้รวม 5,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 ถึง 1,108 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 โดยรายได้ร้อยละ 66 ของรายได้ทั้งหมดมาจากลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือมาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. และผลจากการควบคุมคุณภาพและความชื้นของเชื้อเพลิงอย่างเข้มงวด และการบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาเชื้อเพลิงถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1/2566 สูงถึง 619 ล้านบาท และจากแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวลดลง รวมถึงการผลิตและการจ่ายไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของบริษัทฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว” นายโยธิน กล่าว

Back to top button