คัด 7 หุ้นได้ประโยชน์ ลุ้นส่งออกไทย พ.ค. ฟื้น

คัด 7 หุ้นได้ประโยชน์ หลังยอดส่งออกจีนหดตัว 7.5% ในเดือนพ.ค. ยังถือว่าติดลบน้อยกว่าตลาดคาด โบรกคาดว่าจะเป็นบวกต่อภาคการส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ SCGP-III-HANA-KCE-TFG-TU และ CPF


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ สำนักงานศุลกากรจีน เผยถึงตัวเลขส่งออกของจีนเดือน พ.ค. หดตัวสูงถึง 7.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ลดลงแรงกว่าตลาดคาดที่ 0.4% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังดีมานด์สินค้าประเทศจีนในตลาดโลกชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ชะลอตัวติดต่อกัน 2 เดือน ส่วนยอดนำเข้าของจีนเดือน พ.ค. ลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวน้อยกว่าตลาดคาดที่ 8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และติดลบน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 7.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบ ภาคการค้าระหว่าง ไทย-จีน ถือว่ามีความสัมพันธ์กันมากขึ้น

โดยจีนมีการนำเข้าสินค้าจากไทยในปี 2565 สูงสุดเป็นอันดับ 12 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 2.08% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ขณะที่ไทยมีการส่งออกสินค้าไปจีนในเดือน เม.ย. 2566 สูงสุดเป็นลำดับที่ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 17.1% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดอีกทั้งการนำเข้าสินค้าของจีน-การส่งออกไทย มีค่า Correlation สูงถึง 0.67

ทั้งนี้ ยอดนำเข้าของจีนในเดือนพฤษภาคมที่หดตัวน้อยกว่าคาด เชื่อว่าจะส่งผ่านมายังภาคการส่งออกบ้านเราในเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

โดยคาดกระทรวงพาณิชย์รายงานช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งมีหลายตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยรายงานออกมาชะลอตัว อาทิ อัตราเงินเฟ้อ, ดัชนี PMI ภาคการผลิต, การนำเข้า-ส่งออก, และยอดขายบ้าน สะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจเป็นแรงผลักให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นด้านการเงินและการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิ การลด RRR ของ ธ.พ. ขนาดใหญ่, การลดดอกเบี้ยเงินฝาก และการช่วยเหลือในภาคอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น ภาคการค้าของจีนยังคงอยู่ในโซนหดตัว หลังจากดีมานด์สินค้าจีนในตลาดโลกชะลอตัวลง แต่ทั้งนี้ยอดการนำเข้าของจีนที่ออกมาในเดือนพฤษภาคมยังถือว่าติดลบน้อยกว่าตลาดคาด จึงเชื่อว่าจะเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการส่งออกของไทยให้หดตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องและคาดว่าจะได้รับประโยชน์ อาทิ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)  หรือ SCGP, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นต้น

Back to top button