เปิดพิรุธ STARK จัดฉาก “วนเงิน” เจ้าหนี้-ลูกหนี้การค้า ดึง “วนรัชต์” เอี่ยวปมทุจริต
STARK จัดครบสูตร “ปลอมบัญชี-อำพราง-ไซฟ่อน” พบพิรุธละครฉากใหญ่ ชักเงินออกผ่าน “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง” ก่อนวนกลับเข้า “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ในนามลูกหนี้การค้า จับตายุทธการผูกขา! ส่งผล “วนรัชต์” อาจต้องมีส่วนร่วมทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีผลขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 11% เทียบกับขาดทุนสุทธิปี 2564 จำนวน 5,989 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย
โดยมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3,473 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 25,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,158 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.31% จากปี 2564 และมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,609 ล้านบาท หรือ 34.57% เทียบกับปี 2564
ส่วนปี 2564 มีรายได้จากการขาย 17,486.60 ล้านบาท (จากเดิม 25,217.2 ล้านบาท) และมีรายได้จากการให้บริการ 1,568.40 ล้านบาท (จากเดิม 1,828.8 ล้านบาท) โดยปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 5,989.30 ล้านบาท (จากเดิมกำไรสุทธิ 2,794.90 ล้านบาท) รวม 2 ปี มีผลขาดทุนสุทธิรวมกว่า 12,640 ล้านบาท ส่วนงบดุลบริษัท มีลูกหนี้การค้า 6,306.20 ล้านบาท (จากเดิม 15,570.80 ล้านบาท) และส่วนของเจ้าของ 2,844.90 ล้านบาท (จากเดิม 6,591.20 ล้านบาท)
โดยส่งผลให้ทางผู้ตรวจสอบบัญชีได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินในหัวข้อ “รายการปรับปรุงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างปีและการปรับปรุงรายการย้อนหลังไปยังงบการเงินปีก่อน” ในข้อ 1.4 และ 1.5
ทั้งนี้ ในระหว่างการตรวจสอบงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ ผู้บริหารของกลุ่มกิจการได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีถึงรายการผิดปกติจำนวนมากหลายรายการที่มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่องบการเงินรวมของกลุ่มกิจการ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบัญชี ผู้บริหาร ของกลุ่มกิจการได้พิจารณาและปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและงบการเงินรวมปีก่อนแล้ว
สำหรับข้อ 1.4 ระบุว่า รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี) ซึ่งรายการจ่ายเงินล่วงหน้า ค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565
โดยปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะทำการสั่งซื้งสินค้าจากคู่ค้าโดยการเปิด Letter of Credit (L/C) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าส่วงหน้ารายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ และยังพบกว่ามีการจ่ายเงินออกไปจริงแต่มิได้เป็นการจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลสิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีในงบการเงินรวมปีปัจจุบันให้ถูกต้องแล้ว
ขณะที่ข้อ 1.5 ระบุว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าเป็นลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 เป็นจำนวนเงิน 2,034 ล้านบาท และในเดือนเดียวกัน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ยังได้รับเงินอีกจำนวน 4,052 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นการรับเงินชำระเงินจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะสนับสนุนว่ามีรายการขายเกิดขึ้นจริง และจากเส้นทางการรับชำระเงิน ได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลสิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีทั้งในงบการเงินรวมปีปัจจุบันและปรับย้อนหลังในงบการเงินรวมปีก่อนให้ถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว มีการพบข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ STARK มีการตั้งเรื่องจัดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมจากซัพพลายเออร์ 3 ราย แต่ไม่มีการเปิด Letter of Credit หรือ L/C ไปยังซัพพลายเออร์ทั้ง 3 ราย แต่กลับมีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับ “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง” หรือ APDE แทน ทั้งที่ APDE ไม่เคยเป็นบริษัทคู่ค้ากับทาง “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK มาก่อน จึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่ามีธุรกรรมการซื้อขายสินค้าจริงหรือไม่ รวมถึงการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้าไม่ใช่ธุรกรรมการซื้อขายที่ปกติของทาง STARK
นอกจากนี้ ยังพบชื่อ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของ STARK ที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ว่าเคยเป็นกรรมการรายหนึ่งของ ADPE ในช่วงระหว่างมีธุรกรรมต้องสงสัยเกิดขึ้น
อีกทั้งในภายหลังยังพบว่า “เฟ้ล์ปส์ ดอด์จ” ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเป็นเงินจาก APDE ซึ่งการที่ APDE ไม่เคยทำธุรกิจกับ STARK มาก่อน และอยู่ดีๆ มีชื่อขึ้นมาเป็นผู้รับเงินล่วงหน้า และมีการจ่ายกลับมาที่บริษัท อาจเป็นความจงใจให้มีชื่อของ “วนรัชต์” เข้ามามีส่วนพัวพันในเรื่องของการทุจริตด้วยหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “วนรัชต์”
อนึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า พบว่าบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจนำเข้า ตัวแทนจำหน่าย ให้เช่า อุปกรณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 1)บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 60% 2)นายกิจจา คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 37.5% 3)นายประเสริฐ คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 2.5%
ขณะที่ บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด มีผู้ถือหุ้น 100% คือ นายวนรัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK อย่างไรก็ดีจากข้อมูลดังกล่าว ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า นายวนรัชต์ มีความผิดเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินอันผิดปกติตามที่ผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งข้อสังเกตว่ากรณีดังกล่าวเป็นความพยายามที่อาจส่งผลให้ นายวนรัชต์ ถูกมองว่าเป็นผู้กระทำการทุจริตต่อ STARK แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ ขณะที่รายงานผู้สอบบัญชีระบุเกี่ยวกับการบันทึกรายได้จาก APDE ซึ่งหมายถึงว่าเม็ดเงินที่ไหลออกจาก STARK ผ่านบัญชีเจ้าหนี้การค้า ถูกนำกลับเข้ามาใน STARK อีกครั้งผ่านบัญชีลูกหนี้การค้า เท่ากับว่า APDE ที่นายวนรัชต์ถือหุ้นทางอ้อมอยู่ 60% อาจไม่ใช่ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง เนื่องจากเงินเข้ามาแล้วก็ไหลออกต่อ
อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบพบนั้น ส่งผลให้เหตุการณ์ในขณะนี้ดูเหมือนว่า นายวนรัชต์ อาจเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการทุจริตใน STARK ทั้งนี้ยังต้องรอการพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ควบคุมสั่งการตัวจริงในส่วนของการปลอมแปลงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตลอดจนการทำธุรกรรมของทั้ง STARK, เฟ้ลปส์ ดอด์จ และ APDE