CIG ควัก 450 ล้านบาท ซื้อ “กู๊ด เวนเจอร์ส” รุกแพลตฟอร์ม “โลจิสติกส์”
CIG ไฟเขียว “ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์” รับโอนกิจการทั้งหมดจาก “กู๊ด เวนเจอร์ส” มูลค่า 450 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จสิ้นปี 66
บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (CIGU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยรับโอนกิจการทั้งหมดจาก บริษัท กู๊ด เวนเจอร์ส จำกัด โดย CIGU จะชำระค่าตอบแทน 450 ล้านบาท คาดว่าการเข้าทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดจะแล้วเสร็จและชำระค่าตอบแทนทั้งหมดภายในเดือน ธ.ค.66
สำหรับ กู๊ด เวนเจอร์ส เป็นบริษัทย่อยที่บริษัท เอ็กซ์เพรส (2023) โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 99.99% ซึ่งการรับโอนกิจการทั้งหมด CIGU จะได้แพลตฟอร์มสำหรับการขนส่ง (Logistics Platform) ชื่อ “VE Logistics Platform” รองรับการให้บริการจัดการด้านการขนส่งสินค้า (Logistics) ไปยังจุดหมายปลายทางด้วยวิธีการขนส่งผ่านยานยนต์ ทั้งยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์รูปแบบอื่น โดยมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและตรงเวลาซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างมาก
โดย VE Logistics Platform จะได้รับการพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นการให้บริการแก่ธุรกิจด้าน Cold Chain Logistics เป็นหลัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจหลักของ CIG ทั้งในด้านการพัฒนารถบรรทุกห้องเย็น (Cold Chain Trucks) รถกระบะห้องเย็น และการก่อสร้างคลังสินค้า ห้องเย็น ตลอดจนสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตของกิจการ และความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทฯ ในระยะยาว
อนึ่ง ในการรับโอน VE Logistics Platform CIGU จะได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิดังต่อไปนี้
1.สิทธิตามสัญญาเช่าช่วงห้องควบคุมระบบ (Control Room) และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อยู่ในห้องควบคุมระบบ (Control Room) มูลค่ารวมประมาณ 1.50 ล้านบาท
2.สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตลอดอายุของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มูลค่ารวมประมาณ 18.16 ล้านบาท
3.สิทธิตามสัญญาบริหารจัดการและให้บริการแพลตฟอร์ม (Management Services and Platform Services Agreement) โดยผู้เป็นเจ้าของ VE Logistics Platform จะได้รับค่าบริการสำหรับการให้ใช้บริการ VE Logistics Platform (Platform Services Fee) จากบริษัท โซลาร์ เซาเทิร์น เอ็กซ์เพรส จำกัด (SSS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่วันที่มีการใช้บริการจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2572 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 บาท/ตัน/กิโลเมตร สำหรับรถบรรทุกห้องเย็น และไม่ต่ำกว่า 0.25 บาท/ตัน/กิโลเมตร สำหรับรถบรรทุกทั่วไป และไม่ต่ำกว่า 1,100 บาท/วัน สำหรับรถกระบะ (สิทธิในการได้รับค่าบริการ VE Logistics Platform)
โดย SSS จะให้บริการบริหารจัดการ VE Logistics Platform ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.66-31 ธ.ค.72 ค่าบริหารจัดการ (Management Fee) ในอัตรา 30% ของรายได้ของ VE Logistics Platform หลังหักค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน ก่อนหักค่าบริหารจัดการที่ SSS เรียกเก็บ (EBIT before Management Fee) โดย SSS ได้ตกลงเพิ่มเติมว่าจะรับประกัน EBITDA รวม (Accumulated EBITDA) ของ VE Logistics Platform และตกลงชดใช้ส่วนต่างระหว่าง EBITDA รวมตามจริง (Actual Accumulated EBITDA) และ EBITDA รวมที่รับประกัน (Guaranteed Accumulated EBITDA) ในจำนวนไม่เกิน 450 ล้านบาทตั้งแต่ปี 68-72 โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ตกลงค้ำประกันการชดใช้ส่วนต่างดังกล่าวไม่เกิน 450 ล้านบาทด้วย
ทั้งนี้ สิทธิในการได้รับค่าบริการ VE Logistics Platform อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต หากความร่วมมือในการจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง SSS กับ บริษัท เจ หลิง โซลูชั่น จำกัด (JLS) และ บริษัท เอลเอเนอร์จี้ จำกัด (ELENERGY) และบริษัท อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (IGU) ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 3,500 ล้านบาท สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ ได้แก่
1.โครงการศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็นและตลาดสินค้าการเกษตร (Cold Chain Distribution Channels and Markets) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 69
2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 69
3.โครงการนำร่องสำหรับการขนส่งด้วยยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Logistics) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67
CIG ระบุว่า VE Logistics Platform เป็นโครงการที่มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องด้วยรูปแบบของธุรกิจ (Business Model) ที่ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) ที่ต้องจัดหาเงินทุนสูงด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามด้วย Business Model ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า คนขับรถ ผู้ให้บริการสินเชื่อสำหรับรถบรรทุก และผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับหัวลากรถบรรทุกไฟฟ้า และรถกระบะไฟฟ้านั้น การที่กิจการของ VE Logistics Platform จะสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือและศักยภาพของพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยเป็นสำคัญ และจากการคำนวณมูลค่าของกิจการด้วยวิธีการคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Approach) CIGU จะมีประมาณการรายได้ค่าบริการ VE Logistics Platform จาก SSS ในช่วงปี 67-72 โดยเฉลี่ยประมาณ 455.13 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 245 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกับความเป็นไปได้และมูลค่าของกิจการของ VE Logistics Platform รวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดหาผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าได้เพียงพอ การมีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่และอัดประจุไฟฟ้า (EV Swapping & Charging Stations) ที่เพียงพอ การพิจารณาความคุ้มค่าของการลงทุนโดยพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการขาดแคลนตลาดรองรับรถบรรทุกไฟฟ้าหรือรถกระบะไฟฟ้ามือสองที่ชัดเจน ณ ปัจจุบัน เป็นต้น
CIG จะใช้เงินทุนที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ประมาณ 433.55 ล้านบาท (หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิเต็มจำนวน) และกระแสเงินสดภายในประมาณ 16.45 ล้านบาท ในการเข้าธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมด แต่หากไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอต่อการชำระค่าตอบแทนการโอนกิจการทั้งหมดได้บริษัทจะจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมจากการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป
บริษัทคาดว่าการเข้าทำธุรกรรมนี้จะทำให้ได้รับประโยชน์จากการขยายหรือการเติบโตในธุรกิจต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการจัดการด้านการขนส่งสินค้า (Logistics) ผ่าน VE Logistics Platform และทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจหลักไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการทำความเย็นทุกรูปแบบ ทั้งระบบแอร์ขนาดใหญ่ ตู้เย็นขนาดพิเศษที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากับความต้องการที่ไม่ได้เป็น Mass Market
ฝ่ายจัดการของบริษัทได้พัฒนาแผนธุรกิจ (Business Plan) และพิจารณาจัดหาแนวทางและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ ดังนี้ พิจารณาจัดหาแนวทางและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากพันธมิตรทางธุรกิจจากโครงการ Cold Chain Distribution Channels and Markets ซึ่งจะสามารถเพิ่มยอดขายที่มั่นคงให้กับ 1.ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายห้องเย็นให้กับศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 2. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายระบบแอร์ขนาดใหญ่
และ 3.ธุรกิจผลิตและให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นสำหรับรถบรรทุกและศูนย์กระจายสินค้าขนาดเล็ก ซึ่งล้วนเป็นการผลิตสินค้าที่มีตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่บริษัทฯ มีศักยภาพมากกว่าคู่แข่งรายอื่นจากความรู้ความสามารถที่บริษัทฯ สั่งสมมามากกว่า 30 ปีและจะทำให้บริษัทฯ มียอดขายสูงขึ้นและสามารถกำหนดราคาให้มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้นมากกว่าธุรกิจที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาคำสั่งซื้อ (Purchase Order) จากลูกค้าทั่วไป
นอกจากนี้ บริษัทจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการขายสินค้าและบริการให้แก่ Cold Chain Distribution Channels and Markets ที่จะมีความต้องการในการใช้ห้องเย็นขนาดประมาณ 2,850 ตารางเมตร รวมประมาณ 10-15 โครงการ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบความส เร็จ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรขั้นต้นประมาณ 300-450 ล้านบาท
รวมทั้งพิจารณาจัดหาแนวทางและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากพันธมิตรทางธุรกิจจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งจะสามารถเพิ่มทรัพย์สินที่เป็นโครงการสาธารณูปโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Utilities) ให้แก่ IGU ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทางอ้อมที่บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเข้าลงทุนในหุ้น 22.68% ผ่านบริษัทแม่ในต่างประเทศของ IGU และพิจารณาจัดหาแนวทางและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากพันธมิตรทางธุรกิจจากโครงการนำร่องสำหรับการขนส่งด้วยยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Logistics) ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงทางอุปสงค์ (Firm Demand) ให้กับยอดขายไฟฟ้าของ IGU