โบรกแนะซื้อ DIF ชี้ปี 66 เงินปันผลสูง 9% ย้ำหน่วยลงทุนราคาถูก

โบรกเกอร์ซื้อ DIF เนื่องจากผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง 9.0% ในปี 66 และการการันตีการเช่าระยะยาว 16 ปี ส่วนปัจจัยบวกที่มีแนวโน้มจะช่วยหนุนราคาหน่วยลงทุนในอนาคตก็คือ ธปท.หยุดขึ้นดอกเบี้ย ราคาเป้าหมาย 13.60 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากวานนี้ราคาหุ้น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ปรับตัวลงหนักไปปิดที่ระดับ 10.80 บาท ลบไป 1.20 บาท หรือ 10% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.97 พันล้านบาท นั่นทำให้ผู้ถือหน่วยเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST ได้ออกบทวิเคราะห์ (23 มิ.ย.66) คงคำแนะนำ “ซื้อ” กองทุน DIF เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง (หรือ yield ปี 66 ที่ 9%) และหน่วยลงทุนราคาถูก

ขณะที่ราคาเป้าหมายอิงวิธี DCF ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 13.6 บาท (7.7% WACC, 3.0% TG) โดยราคาหน่วยลงทุน DIF ที่ลดลงส่งผลให้ส่วนต่างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 6.4% pt (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 5.2%) และ P/NAV อยู่ที่ 0.67 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 0.89 เท่า) ณ ราคาตลาดหน่วยละ10.8 บาท

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า IRR ของ DIF เท่ากับ 10.5% โดยผู้บริหารของ TRUE ยืนยันว่า 1) บริษัทไม่ได้ขายหน่วย DIF ในวันที่ 22 มิ.ย. และ 2) บริษัทมีแผนที่จะปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่มีอยู่กับ DIF

ส่วนราคาหน่วยลงทุนของ DIF ลดลง 18% จากต้นปีถึงปัจจุบัน (ขณะที่ SET ลดลง 9.5% จากต้นปีถึงปัจจุบัน) รับแรงกดดันจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้เป็น 2.00% จาก 1.25% ในวันที่ 30 พ.ย. 65 โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น สำหรับหนี้สินที่มีอยู่จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางนักวิเคราะห์ได้ใส่ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก 1.1 พันล้านบาท ในปี 2565 โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 4.0% เป็น 1.4 พันล้านบาท ส่วนในปี 2566 อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 5.2% ไว้ในประมาณการแล้ว

นอกจากนี้ ส่วนต่างผลตอบแทนที่สูงนั้น สะท้อนว่าราคา DIF อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยราคาหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10.80 บาท อีกทั้ง DIF ให้ผลตอบแทนเงินปันผลปี 2566 ที่ 9.0% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ 2.6% อยู่ถึง 6.4% โดยส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่ระดับ 6.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 5.2% ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 1 s.d. แสดงถึงมูลค่าที่น่าสนใจสำหรับ DIF เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล

นอกจากนี้ ส่วนต่างผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยกำลังสะท้อนว่าตลาดได้ซึมซับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.2% pt (ส่วนต่างของผลตอบแทน ปัจจุบันที่ 6.4% pt เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.2%) เข้าไปแล้ว

ทั้งนี้ทางนักวิเคราะห์ยังคงชอบหน่วยลงทุน DIF เนื่องจากผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง 9.0% ในปี 66 และการการันตีการเช่าระยะยาว 16 ปี (ระยะเวลาการเช่าถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักรายได้) โดย DIF ซื้อขายที่ P/NAV 0.67 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 0.89 เท่า อยู่ประมาณ 2 s.d. ส่วนปัจจัยบวกที่มีแนวโน้มจะช่วยหนุนราคาหน่วยลงทุนในอนาคต ก็คือ ธปท.หยุดขึ้นดอกเบี้ย

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS ระบุว่า มีการตรวจสอบกับผู้จัดการกองทุน DIF ไม่พบปัจจัยลบใหม่ อีกทั้ง TRUE ยืนยันกับกองทุนว่าในระยะสั้นยังไม่มีการพิจารณาลดสัดส่วน รวมทั้งไม่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเช่าทรัพย์สินที่ตกลงไว้กับกองทุนฯ

อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรี พัฒนสิน มองว่าความเสี่ยงสำคัญต่อ DIF คือ DTAC ยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดในเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งหากยกเลิกในครึ่งหลังของปี 2566 จะกระทบประมาณการเงินปันผลลดลงเหลือ 0.97 บาท (Dividend Yield 9%) หรือลดลง 3% จากปัจจุบัน รวมไปถึงจะกระทบราคาเป้าหมายเหลือ 13.70 บาท จากปัจจุบันให้ไว้ 13.90 บาท

นอกจากนี้ได้ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” สำหรับ DIF เนื่องจากราคาปรับลงมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงกรณี   DTAC ยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด, กรณีรวมผลกระทบของ DTAC คาดว่ากองทุนจะจ่ายเงินปันผลหน่วยละ 0.97 บาทต่อปี (yield เฉลี่ย 9%) และระยะยาวมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สินหลังการรวมบริษัทเสร็จ

Back to top button