“มาเลเซีย” รับรองโรงผลิตปศุสัตว์ “ไทย” อีก 11 แห่ง มูลค่าส่งออกเพิ่ม 1.5 พันล้าน
“มาเลเซีย” ประกาศรับรองโรงงานผลิตปศุสัตว์ “ไทย” อีก 11 แห่ง รวมเป็น 37 แห่ง เพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังมาเลเซียปี 66 กว่า 1.5 พันล้านบาท
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หน่วยงาน Department of Veterinary Services (DVS) และ Department of Islamic Development Malaysia (JAKIM) ของประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยเพิ่มอีก 11 แห่ง หลังจากเดินทางมาตรวจประเมินเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม 2566 เพื่อประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนด เงื่อนไข และระเบียบของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียมีความเชื่อมั่นและได้ชื่นชมในระบบการตรวจสอบ กำกับ ควบคุมและดูแลกระบวนการผลิตของกรมปศุสัตว์ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง
สำหรับโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มาเลเซียประกาศรับรองเพิ่ม ได้แก่ โรงฆ่าไก่ 7 แห่ง โรงฆ่าเป็ด 1 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์นม 3 แห่ง รวมปัจจุบันมาเลเซียรับรองโรงงานผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของประเทศไทยแล้ว 37 แห่ง ซึ่งคาดการณ์ในปี 2566 นี้ มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านสุขภาพสัตว์ และความปลอดภัยด้านสินค้าปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานในการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงเชือดชำแหละและแปรรูป เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย จากการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ด้วยความเข้มงวด ต่อเนื่องมาโดยตลอดทำให้ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ สามารถส่งออกได้มูลค่า 85,059 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วช่วงเวลาเดียวกัน มีสินค้าเด่นคือ เนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็ง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 46,000 ล้านบาท จากความต้องการบริโภคของตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการขึ้นทะเบียนโรงงานเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์มุ่งมั่น กำกับดูแลทุกขั้นตอนการผลิตอย่างเข้มงวดต่อเนื่องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของไทย ทั้งมาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความสอดคล้องตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและหลักสากล สามารถเพิ่มโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้านปศุสัตว์ของไทยในตลาดโลกต่อไป