ไร้แผนเยียวยา! “ก.ล.ต.-ตลท.” นำ 9 องค์กรแถลงเคส STARK แค่เรียกความเชื่อมั่น
ก.ล.ต. พร้อมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำ 9 องค์กรในตลาดทุน เปิดเผยความคืบหน้าการกรณี STARK หลังพบความผิดปกติงบการเงิน และการทำธุรกิจ จนส่งผลต่อนักลงทุน หวังเรียกความเชื่อมั่น แต่ยังไร้แผนการเยียวยา พร้อมย้ำต่างจาก MORE ที่มีผู้เสียหาย และคนทำผิดชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 9 องค์กรในตลาดทุน ร่วมกันเปิดเผยคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ กับกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน แต่ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อาทิ การให้ STARK เปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และ ตำรวจ ปอศ. ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุนนั้น นายธวัชชัย ย้ำว่า ก.ล.ต. ยินดีช่วยเหลือประสานงานอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการ ซึ่งได้มีการติดตามข้อมูล และดำเนินให้ STARK เปิดเผยข้อมูลสำคัญ หรือการออกข่าวเตือนผู้ลงทุน และยังมีการขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุน ทั้งนี้สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป นั้นคือ การปรับกระบวนการทำงานและปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งด้านบริษัทจดทะเบียน และการซื้อขาย ซึ่งจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และยกระดับการกำกับดูแลตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรับหลักทรัพย์ การดำรงสถานะ จนถึงการเพิกถอน รวมถึงจะยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขาย เช่น มาตรการป้องปราม ตลอดจนการสร้างความร่วมมือเชิงรุกกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงของนักลงทุน
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มองว่า กรณีของ STARK ที่มีการตกแต่งงบการเงิน สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของนักวิเคราะห์และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล เพราะที่ผ่านมาไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะการตรวจทานหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ ต้องมาOpportunity Day หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึง ปีละ 2-4 ครั้ง เพื่อให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสามารถซักถามสอบถามได้โดยตรง เพื่อประเมินความสมเหตุผลของข้อมูลและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดในการกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (IPO) เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ชมรมฯ ยินดีให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ backdoor listing ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเทียบเท่ากับเกณฑ์ IPO ต่อไป
นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบบริษัทที่มีการจัดทำงบการเงินด้วยการสร้างมูลค่าการซื้อขายปลอมขึ้นมาซึ่งทางทริสเรตติ้ง ประเมินตามข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่ได้แจ้งต่อสาธารณะชน รวมถึงบทวิเคราะห์ต่าง ซึ่งหลังจากนี้ อาจต้องระวังมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่สร้างการเติบโตด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัทอื่น ซึ่งไม่ใช่การเติบโตจากการประกอบธุรกิจด้วยตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบริษัทที่ดำเนินการในลักษณะนี้ มักจะเกิดปัญหา
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า บลจ. ที่ลงทุนใน STARK มีความเห็นตรงกันในแนวทางการทำ class action และในฐานะนายกสมาคมฯ มองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย ไม่ จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทจัดอันดับเครดิต นักวิเคราะห์ จะต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การแถลงของ ก.ล.ต.และองค์กรต่างๆ ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชีนั้น ก.ล.ต. ยอมรับว่า ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย แต่ในการตรวจสอบผู้สอบบัญชี ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบว่า มีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด
นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะไปตรวจสอบกรณีหุ้นกู้ STARK ว่าเหตุใดถึงมีการเสนอขายให้นักลงทุนรายย่อย ทั้งที่ข้อตกลงก่อนหน้านี้ ระบุให้เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น
ส่วนการยึดหรืออายัดทรัพย์บุคคลที่เดี่ยวข้องในคดีของ STARK จะมีความแตกต่างกับกรณีของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่มีผู้เกี่ยวข้องและผู้เสียหายชัดเจน แต่กรณีนี้ยังต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ อีกมาก