สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 มิ.ย. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 มิ.ย. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โดยรายงานดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของสหรัฐ และช่วยบดบังปัจจัยลบจากความวิตกกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,122.42 จุด เพิ่มขึ้น 269.76 จุด หรือ +0.80%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,396.44 จุด เพิ่มขึ้น 19.58 จุด หรือ +0.45% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,591.33 จุด ลดลง 0.42 จุด หรือ -0.003%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้น H&M ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าของสวีเดนหลังการเปิดเผยผลกำไรรายไตรมาสที่แข็งแกร่งเกินคาด แต่ตลาดก็ยังคงถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและยุโรป และการที่ธนาคารกลางรายใหญ่ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 456.64 จุด เพิ่มขึ้น 0.59 จุด หรือ +0.13%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,312.73 จุด เพิ่มขึ้น 26.41 จุด หรือ +0.36%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,946.72 จุด ลดลง 2.28 จุด หรือ -0.01% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,471.69 จุด ลดลง 28.80 จุด หรือ -0.38%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มน้ำประปาที่ร่วงลงจากแนวโน้มการคุมเข้มด้านกฎระเบียบ นอกจากนี้ ความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางรายใหญ่เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปนั้น ได้ส่งผลถ่วงตลาดลงด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,471.69 จุด ลดลง 28.80 จุด หรือ -0.38%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องนักลงทุนวิตกกังวลว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 69.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.42% ปิดที่ 74.34 U.S. ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.30 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,917.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2566

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 28.60 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 22.798 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 18.10 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 906.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 19.50 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,227.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.42% แตะที่ระดับ 103.3432

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.8870 เยน จากระดับ 144.3170 เยนในวันพุธ (28 มิ.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8999 ฟรังก์ จากระดับ 0.8965 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8615 โครนา จากระดับ 10.7726 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3243 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3254 ดอลลาร์แคนาดา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0867 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0922 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2613 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2648 ดอลลาร์

Back to top button