AOT ทุ่มแสนล้าน ลุยขยายสนามบิน 6 ท่า ภายในปี 70 รองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน
AOT ทุ่มแสนล้านขยายสนามบิน 6 แห่งภายในปี 70 รองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน พร้อมวางเป้าผลิตไฟฟ้าโซลาร์ 50 MW ใน 6 สนามบิน ภายใน 4 ปี และเตรียมชงโอน 3 สนามบินภูมิภาค “กระบี่-อุดรธานี-บุรีรัมย์” ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท. เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนขยายขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายในปี 2570 ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารทั้งหมด 200 ล้านคน โดยได้เตรียมงบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเงินลงทุนทั้งหมดจะมาจากการดำเนินงานของบริษัทฯ
โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่าลงทุน 8 พันล้านบาท จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 67 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 70
และการลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) งบลงทุน 8 พันล้านบาท จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี โดยจะดำเนินการต่อเนื่องหลังงาน East Expansion เสร็จ ขณะที่การขยายไปทางทิศเหนือและใต้ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านคน โดยโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในปลายปี 67 หลังจากนั้นจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 68 โดยจะมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จในปี 70 และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 รวมพื้นที่ 2.4 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในประเทศ คาดว่าทั้งหมดจะรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี รวมทั้งปรับปรุงจราจรเป็น 6 เลน และสร้างทางเชื่อมต่อกับทางด่วนโทลเวย์
โครงการขยายอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูเก็ตที่ปัจจุบันรองรับได้ 12 ล้านคน/ปี แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 6 ล้านคน/ปี และในประเทศ 6 ล้านคน/ปี ซึ่งมีความแออัดมาก จะขยายให้รองรับได้ 18 ล้านคน/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 68 งบลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
โครงการสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเชียงใหม่หลังใหม่ รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารเดิมรองรับผู้โดยสารในประเทศ จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคน/ปี งบประมาณลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เตรียมงบปรับปรุง โดยจะเพิ่มโถงพักคอยผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีความแออัด
นายกีรติกล่าวอีกว่า การรับโอนสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่งคือ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์นั้น ขณะนี้รอกรมท่าอากาศยานขอรับใบรับรองสนามบินสาธารณะเสียก่อน หลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม.ในการอนุมัติรับโอน 3 สนามบินดังกล่าว ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไรก็ดี AOT ได้เตรียมความพร้อมรองรับ 3 สนามบินทั้งอุปกรณ์และบุคลากร
หากไม่ได้รับอนุมัติการรับโอน 3 สนามบินดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะกลับมาดำเนินการแผนเดิมที่จะขยายสนามบินภูเก็ต 2 หรือที่พังงา และสนามบินเชียงใหม่ 2 ที่บริษัทเคยวางแผนไว้ก่อนหน้านี้
อีกทั้งมั่นใจว่าในปี 66 (สิ้นสุด ก.ย.) จะมีประมาณผู้โดยสารกลับมาเติบโตตามคาดการณ์ไว้ที่ 95 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนในปี 67 โดยในช่วง 8 เดือน (ต.ค.65-พ.ค.66) มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 170.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 635.7% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 61.3% ขณะที่เที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 79% เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 175.2% และเที่ยวบินในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35.4%
ในระหว่างนี้ บริษัทฯ ได้แก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีแผนติดตั้งเครื่อง Auto Channel ที่สามารถบริการผู้โดยสารขาออกรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศ คาดให้บริการนำร่องในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองภายในปี 67
นอกจากนี้บริษัทฯจะนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร โดยเมื่อผู้โดยสารมาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ ระบบ Biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารสร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่า ข้อมูล One ID เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋า สัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ Boarding Pass ณ จุดตรวจค้นและขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสาร ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการได้ในช่วงกลางปี 67
โดยบริษัทฯให้ความสำคัญในการบริหารท่าอากาศยาน เพื่อให้เป็นท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน จึงมีแผนโครงการพลังงานทดแทนในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งนำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟท้อป ขนาดกำลังการผลิต 4.4 เมกะวัตต์ เริ่มใช้งานเดือน ส.ค.66 และจะดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท้อป การติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ ในทุกท่าอากาศยาน ขนาดกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ ภายใน 4 ปีนี้ โดยจะมีเอกชนเข้ามาติดตั้งระบบให้และจะขายไฟฟ้าให้กับบริษัทฯ ในราคาถูก ซึ่งราคาไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะใช้ในช่วงเวลากลางวัน ค่าไฟจะลดลงจากปกติ 20-30%
นอกจากนี้มีแผนเปลี่ยนรถและอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่ให้บริการในท่าอากาศยานเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นสนามบินที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)