PTT รอดหวุดหวิด! แก๊งฉาวหลอกขายหุ้น STARK เมื่อปี 64 เกือบสูญ 6 พันล้าน

PTT รอดหวุดหวิดไม่เข้าซื้อหุ้น STARK เมื่อปี 2564 จากแก๊งฉาวเข้ามาเจรจาขายหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท หลังจากมีเสนอขายถึง 2 ครั้ง โชคดีไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ดเพราะเห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นเดิมรายนั้นทำกำไรจากการขายหุ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นมีกลุ่มผู้บริหารและกรรมการบางส่วนของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เริ่มเข้ามาเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อให้เข้ามาลงทุนใน STARK โดยมีการยื่นข้อเสนอให้ PTT ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท แต่ฝั่ง PTT พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นเดิมรายนั้นทำกำไรจากการขายหุ้น

หลังจากนั้นไม่นานทาง STARK ก็มีการยื่นข้อเสนออีกครั้งให้กับ PTT ด้วยการซื้อหุ้นเดิมบางส่วน พร้อมกับซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ในคราเดียวกัน ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวยังไม่สามารถหาแหล่งข่าวที่ยืนยันเกี่ยวกับรายละเอียด หรือรูปแบบสำหรับการทำธุรกรรมในครั้งนี้ได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วกำหนดออกมาเช่นไร

อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าคณะกรรมการด้านการลงทุน หรือ Investment Committee ของ PTT ซึ่งขณะนั้นมีผู้บริหารระดับกลางรายหนึ่งเป็นประธานฯ มีมติอนุมัติให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดใหญ่) เพื่อพิจารณาอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าทำรายการซื้อหุ้น STARK

จากการตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข่าวระดับสูงใน PTT พบว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งขณะนั้นมีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธาน โดยมีการยกเลิกแผนการลงทุนในภายหลัง

ทั้งนี้ เกิดกระแสข่าวตามมาว่า ความล้มเหลวของ STARK หรือผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของ STARK ที่ไม่สามารถขาย “หุ้นออกใหม่” หรือ “หุ้นเดิม” ให้กับ PTT ได้นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกภายในขบวนการ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักเริ่มมีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน ตลอดจนส่งผลให้ขบวนการตกแต่งบัญชีภายใน STARK เกิดการขัดสนทางการเงินอย่างรุนแรงจนนำไปสู่แผนการซื้อกิจการสายไฟฟ้า LEONI ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาเป็นตัวแปรหรือปัจจัยในการหล่อเลี้ยงการทำบัญชีปลอม แต่ท้ายที่สุดเมื่อดีลดังกล่าวถูกยกเลิก จึงเป็นที่มาขบวนการตกแต่งบัญชีของ STARK ไม่สามารถไปต่อได้ และนำไปสู่การเลื่อนแจ้งงบการเงินปี 2565 ในที่สุด

Back to top button