เปิดเบื้องลึก STARK มหากาพย์ “แต่งบัญชี-ดันราคาหุ้น”
ปมปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นกับ STARK จะถูกโยงว่าเป็นการทุจริตด้วยการ “ไซฟ่อนเงิน” แต่เบื้องลึกของเรื่องนี้จาก “มือปลุกปั้น” STARK ออกมาแฉแบบหมดเปลือกว่านี่คือ มหากาพย์ “แต่งบัญชี-ดันราคาหุ้น”
กลายเป็นหนังเรื่องยาวสำหรับกรณีหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับการตรวจสอบพบความผิดปกติของงบการเงินของ STARK ด้วยคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ นำโดยนายวนรัตน์ ตั้งคารวคุณ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารชุดเก่าของ STARK โดยตั้งประเด็นว่าเกิดการทุจริตขึ้นใน STARK ด้วยการ “ไซฟ่อนเงิน”
แต่หากย้อนไปดูคำให้สัมภาษณ์ของ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่เริ่มมีการเปิดเผยว่า ตนเองเป็น “คีย์แมน” คนสำคัญในการขับเคลื่อนมหากาพย์งบการเงินที่เกิดขึ้นกับ STARK พร้อมย้ำว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การ “ไซฟ่อน” แต่เป็นการ “ตกแต่งบัญชี” โดยหวังให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจเทียม ที่มีเป้าหมายในการ “ดันราคาหุ้น” บนกระดานเพียงวัตถุประสงค์เดียว
จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ “แต่งบัญชี-ดันราคาหุ้น” ในครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของ “กลุ่มบุคคล”อย่างน้อย 3 คนที่นายศรัทธาอ้างว่าเป็นคนสั่งการให้มีการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการ การดำเนินธุรกิจ และการทำธุรกรรมทั้งหมด โดยมีตนในฐานะ CFO หรือมือการเงินเป็นฝ่ายปฏิบัติให้บรรลุความมุ่งหมายของบรรดาเจ้านาย ซึ่งนั่นคือการมีบริษัทมูลค่ามหาศาลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
จึงเกิดดีลเข้าซื้อกิจการของบริษัทด้านโลจิสติกส์และด้านพลังงาน โดยหวังปลุกปั้นผลประกอบการเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ด้วยปัจจัยทางธุรกิจส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำรายได้ และกำไรได้ “ตามเป้า” และ “ตามเกณฑ์” จึงเป็นที่มาของการที่กลุ่มเจ้านายต้องเบนเข็ม ด้วยการหากิจการอื่นมาเป็นฟันเฟืองตัวใหม่สำหรับการเข็นเข้าตลาดฯ กิจการนั้นคือ…บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์)
กลุ่มเจ้านายของอดีตซีเอฟโอมือพระกาฬซื้อกิจการ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” มาในปี 2558 โดยมีหนึ่งในสามบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และการเข้าซื้อกิจการ เป็นผู้เลือกบริษัทที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้ และกำไรให้เติบโตในระยะเวลาอันสั้น พร้อมกับมอบหมายให้นายศรัทธา คอยทำหน้าที่ดูแลงบการเงิน และกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งเมื่อโจทย์ที่ได้รับคือการทำให้บริษัทต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงหนีไม่พ้นต้องมีการสร้าง “ธุรกรรมอำพราง” ขึ้นมาทั้งในส่วนของรายได้ และกำไร แม้ว่าขณะนั้น “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” มีรายได้จากการขายสายไฟอยู่แล้วปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขในบรรทัดสุดท้ายยังคงติดลบ และแน่นอนว่านั่นไม่สอดคล้องกับแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนของเหล่าผู้เป็นนายที่ต่างมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ว่าเป็นเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนหรือการพิสูจน์ตัวตน
นอกจากการมุ่งสร้างรายได้และกำไรจากการขายตามปกติแล้ว การทำธุรกิจแนวทางใหม่ของ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ภายใต้ร่มธงเจ้าของใหม่ จึงเปลี่ยนมาเป็นการ “ผลิตและสต๊อก” โดยคาดหวังว่าจะทำให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นตามราคาทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าหลักของโรงงาน รวมถึงอลูมิเนียมที่มีอยู่ในสัดส่วนประมาณ 30% ของปริมาณ Raw Materials ทั้งหมดในไลน์การผลิต และจะนำไปสู่รายได้ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับตั้งเป้า “มาร์จิ้น” ไว้ที่ราว 3%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายหลัง “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” จะสามารถทำรายได้ปีละ 18,000 ล้านบาทตามความตั้งใจ แต่ก็ไม่อาจทำให้กำไรของบริษัทขยายตัวได้ดังหวัง นอกเสียจากว่าจะขยายฐานการผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งอาจไม่ทันใจกับความต้องการหรือความจำเป็นของกลุ่มเจ้านายที่คิดแผนการนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นที่มาของการต้องหาเป้าหมายใหม่ โดยครั้งนี้หนึ่งในเจ้านายที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายผงาดขึ้นมาเป็นผู้ล็อกเป้าหมายที่จะพาธุรกิจของกลุ่มตนเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้
บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM กลายเป็นหมากตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของ “กลุ่มเจ้านาย” เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และยังมีเครื่องมือทางการเงินที่จะสามารถนำมาใช้ได้อีกมหาศาล การวางสตรัคเจอร์เพื่อทำดีล “รีเวอร์ส เทกโอเวอร์” จึงบังเกิดด้วยการทำทีให้ SMM เข้าซื้อกิจการของ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” แต่เนื่องด้วยมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า SMM เลยถูกกลืนทางอ้อมในลักษณะ Backdoor Listing
ครั้งนั้น SMM ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2.25 หมื่นล้านหุ้น เพื่อจัดสรร 2.15 หมื่นล้านหุ้น ให้กับบริษัทที่มีหนึ่งในกลุ่มเจ้านายเป็นเจ้าของและผู้มีอำนาจลงนามเป็นการชำระค่าซื้อ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ด้วยหุ้น จากนั้นชื่อของ STARK จึงถือกำเนิดขึ้น และต่อมาได้สร้างอภิมหากาพย์ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเอวังอย่างไร ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้
ราคาหุ้น STARK พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังกระบวนการ “เทกโอเวอร์ผ่านประตูหลัง” เสร็จสิ้นลงแล้ว กระนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ (หรือเพียงพอ) สำหรับ “กลุ่มเจ้านาย” ที่คาดหวังให้มูลค่าของบริษัททะยานสู่หลักแสนล้านบาท โคตรวิชาตกแต่งบัญชีจึงถูกนำมาใช้อีกครั้ง หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ที่เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จนถึงปัจจุบันตามที่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด หรือ PWC ตรวจสอบพบและมีรายงานออกมาล่าสุด
สำหรับโคตรวิชาการตกแต่งบัญชีที่มีนายศรัทธาเป็นผู้รังสรรค์และบรรเลง ใช้วิธีการสร้างรายได้ปลอม และลูกหนี้การค้าเทียม โดยมีการนำเงินจากบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น “บริษัทชั้นลูก” และ “บริษัทชั้นหลาน” รวมถึง “บริษัทชั้น นอน-สตาร์ค” เข้ามาหมุนเวียนใน STARK ผ่านบัญชีส่วนตัวของนายศรัทธา จนเกิดเป็นกำไรที่สูงเกินความเป็นจริง และทำให้มูลค่าของ STARK เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มมีนักลงทุนรายใหญ่ ตลอดจนสถาบันให้ความสนใจในการลงทุน จนถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SET100 ได้อย่างสวยงาม
คำถามตามมาว่า “กลุ่มเจ้านาย” ที่บงการผ่านนายศรัทธา ได้ประโยชน์อะไรจากการ “แต่งบัญชี-ดันราคาหุ้น?” สิ่งที่ได้รับคำตอบจากอดีต CFO ของ STARK คือ มูลค่าของหุ้น STARK ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งใน “กลุ่มเจ้านาย” 3 ท่านที่ว่า ใช้แค่ชื่อของหนึ่งในสามเป็นผู้ถือครองหุ้น STARK โดยปรากฏว่ามีการขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไปถึง 2 ครั้งคราว พร้อมกับขายวอแรนต์ที่ได้รับจัดสรรมาฟรีออกไปด้วย จนว่ากันว่ากลุ่มเจ้านายฟันกำไรจากการทำธุรกรรมเหล่านี้ไปเกือบหมื่นล้านบาท
แต่ด้วยสุภาษิตไทยที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ทำให้การดำเนินธุรกิจในแบบฉบับของ STARK ที่ทำมาตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์มาถึงทางตัน เพราะไม่สามารถหาแหล่งทุนใหม่มาหมุนเวียนในระบบนิเวศของการ “ตกแต่งบัญชี” ได้ เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ในมือได้ถูกใช้ไปหมดเกลี้ยง แถมดอกเบี้ยจากเจ้าหนี้ก็เริ่มพอกพูนมากขึ้น ประกอบกับกิจการของ 2 บริษัทที่เข้าไปซื้อด้วยเงินกู้แบบเอ็กซ์ตร้า 120% ที่เวียดนามประสบผลขาดทุนย่อยยับ จึงเกิดปรากฏการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง และเริ่มจนกระดานมากขึ้นทุกขณะ
แม้มีความพยายามในการเร่ขายหุ้น STARK ที่อยู่ในมือของ “กลุ่มเจ้านาย” ให้กับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานรายใหญ่อย่าง ปตท. แต่ดูเหมือนฟ้าจะมีตา (จริงๆ)! ดีลดังกล่าวพังทลายลงอย่างราบคาบ ซึ่งความล้มเหลวจากกรณีนี้นำไปสู่การหาดีลใหม่ ที่จะถูกใช้เป็นแหล่งเงินทุนหล่อเลี้ยงระบบนิเวศของการ “ตกแต่งบัญชี” ให้เดินหน้าต่อไปได้ ประหนึ่งเปิดบัตรเครดิตใหม่มาโปะบัตรเก่า แต่แล้วก็เหมือนสวรรค์ (หรือยมบาล) อยากให้ทุกอย่างจบสิ้นลงเพียงเท่านี้ ดีลซื้อ LEONI จึงพังทลายลงไม่เป็นท่าอีกเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นได้เรียกเพิ่มทุนมาทำดีลแล้ว 5,580 ล้านบาท
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมหากาพย์ “แต่งบัญชี-ดันราคาหุ้น” ของ “กลุ่มเจ้านาย” ที่ตั้งใจสวมสูทผูกเนคไทเพื่อให้คนในสังคมเชื่อถือ และมอบความไว้วางใจจนนำเงินมาลงทุนด้วย ก่อนที่คนเหล่านี้จะปฏิบัติการยกเค้า สลัดคราบกลายเป็น “โจร” ที่ทำให้หลายคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
ทั้งหมดนี้มาจากการสารภาพแบบหมดเปลือกของอดีตซีเอฟโอ ผู้ถือเป็นมือการเงินระดับพระกาฬของประเทศ ที่พร้อมเผชิญหน้ากับผลกรรมที่ตัวเองก่อไว้ไม่ว่าจะต้องถูกจองจำกี่ปีก็ตามที
แต่เจ้าตัวยังคงคาดหวังว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จะสามารถนำตัวผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงมาชดใช้ผลกรรมจากเหตุการณ์อันสุดแสนจะน่าอัปยศอดสูในครั้งนี้ให้ได้อย่างสาสมด้วย