BANPU-BPP ทุ่ม 1.60 หมื่นล้าน ซื้อโรงไฟฟ้า “Temple II” สหรัฐ 755 เมกฯ รับรู้รายได้ทันที

BANPU-BPP ทุ่มเงิน 16,060 ล้านบาท เข้าซื้อโรงไฟฟ้า “Temple II” ถือหุ้นสัดส่วน 100% ในสหรัฐ 755 เมกะวัตต์ โดยทาง BPP สัดส่วนการลงทุน 8,030 ล้านบาท รายการดังกล่าวได้ทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 จะรับรู้รายได้ทันที


บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัท Temple Generation Intermediate Holdings II, LLC1 ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Purchase and Sale Agreement) เพื่อเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท CXA Temple 2, LLC ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II (Temple II CCGT) โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I (Temple I CCGT) ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการลงทุนรวม 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 16,060 ล้านบาท

โดยเป็นเงินลงทุนของ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ตามสัดส่วนการลงทุน 230 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่า 8,030 ล้านบาท ซึ่งรายการดังกล่าวได้ทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566

สำหรับ Temple II CCGT เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังการผลิต 755 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2558 ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมือง (Urbanization) และการเติบโตของจำนวนประชากร ทั้งยังเป็นรัฐที่มีแหล่งทรัพยากรพลังงานมากมาย โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่องจึงอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้า (merit order) ที่ดี ซึ่งสอดรับกับสภาพและการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีใน Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการควบคุมการปล่อยมลภาวะ ทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีการลงทุนใน Temple I CCGT เมื่อปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้าในรัฐเท็กซัส ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาของบริษัทฯ และช่วยสร้างการผนึกกำลังร่วม (Synergy) โดยได้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง ทำให้สามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นและเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าทำให้สามารถสร้างโอกาสในการทำกำไรในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ขณะเดียวกันการมีกำลังผลิตเพิ่มเติมยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุน ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันทีสอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านขององค์กร และ บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

Back to top button