จับตาโหวต “นายก” พรุ่งนี้! “เอเซียพลัส” แนะสอย IVL-BEM-JMT งบไตรมาส 2 โตเด่น
GBS มองหุ้นไทยผันผวนจากแรงกดดันทางการเมืองที่จะโหวตนายก 13 ก.ค.นี้ แนะลงทุนใน 5 หุ้นเด่น IAA Consensus ได้แก่ ADVANC-AOT-BBL-CPALL-SCB ส่วน “บล.เอเซีย พลัส” แนะลงทุนหุ้นไตรมาส 2 โต IVL-BEM-JMT
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวน โดยนักลงทุนจับตาการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. อย่างใกล้ชิด ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นแรง พยุงหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,480-1,520 จุดจุด
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส 2/2566ลดลงมาที่ 47 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบครั้งแรกในรอบ 15 เดือน บ่งชี้ว่ามีความน่ากังวลจากหลากหลายปัจจัยลบ และธนาคารโลกเปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยประจำเดือนมิ.ย. ระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเผชิญเหตุอุทกภัยและภัยแล้ง เช่นเดียวกับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 13 ก.ค. ประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี, สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตาวันที่ 12 ก.ค. สหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ ซึ่งจะรู้ผลในเช้าวันที่ 13 ก.ค. รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 13 ก.ค. อียู รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย. วันที่ 14 ก.ค. สหรัฐ รายงานราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ค. วันที่ 25-26 ก.ค. ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 5 หุ้นเด่นจาก consensus สำรวจโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำสัปดาห์นี้ต้องจับตาการประกาศตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภค CPI ของสหรัฐซึ่งคาดการณ์ว่าจะอ่อนตัวต่อเนื่อง โดยคาดจะอยู่ที่ 3.6% หากอ่อนตัวลงต่ำกว่าคาดจะเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำ
โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำยังอาจแกว่งตัวออกข้าง หลังไร้ปัจจัยหนุนใหม่ จึงมองกรอบราคาทองคำบริเวณ 1,890-1,930$/oz คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ คัดเลือกหุ้นที่มีกำไรในช่วงไตรมาส 2/66 ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ได้แก่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ราคาเป้าหมาย 44 บาท มองแนวโน้มกำไรค่อยๆ ปรับตัวขึ้นรายไตรมาส และราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนงบครึ่งแรกของปีไปแล้ว, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท เนื่องจากมองว่าจำนวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีโอกาสเติบโตจาก 3 โครงการใหม่, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ราคาเป้าหมาย 46 บาท มองว่าแนวโน้มกำไรเป็นขาขึ้น และราคาหุ้นปรับตัวสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว
ส่วนหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากมารตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ราคาเป้าหมาย 56 บาท เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ต้นทุนการผลิตลดลง กำไรผ่านจุดต่ำสุดและอัพไซด์ราคาหุ้นเปิดกว้าง, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ราคาเป้าหมาย 5.70 บาท หลังมองว่าภาพรวมดีกว่าช่วงพรีโควิด และโดดเด่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/66, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ราคาเป้าหมาย 18.10 บาท มองค่าระวางผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมถึงวอลุ่มขนส่งที่เพิ่มขึ้น, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาเป้าหมาย 132 บาท มองกำไรไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3/66 รับประโยชน์ดอกเบี้นขึ้น ธุรกิจ AUTOX พร้อมตอบโจทย์ลูกค้าด้วย AI คาดดิวิเดนท์ยีลด์ 6% สูงสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่