TISCO ตั้งสำรองลด ดันกำไร Q2 โตกว่าคาด 1.85 พันล้าน
TISCO รายงานกำไรไตรมาส 2 ที่ 1.85 พันล้านบาท โต 0.30% จากปีก่อน ส่วนงวด 6 เดือนกำไร 3.65 พันล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/66 และงวด 6 เดือนแรกของปี 66 มีกำไรสุทธิ ดังนี้
ขณะที่ บลูมเบิร์ก คอนเซ็นซัส คาดการณ์งบ TISCO ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.78 พันล้านบาท ลดลง 2.4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 5.3% จากปีก่อน
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,646 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 5.2% จากความต่อเนื่องของการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
รวมถึงสินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทมีรายได้รวมปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกลุ่มทิสโก้เร่งขยายธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่เปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 100 สาขา และยอดสินเชื่อเติบโตกว่า 12% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.2% ซึ่งบริษัทมีระดับค่าเผื่อสำรองหนี้สงสัยจะสูญพร้อมรองรับความเสี่ยงจากทุกปัจจัยรอบด้าน ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมยังมีความอ่อนแอตามภาวะตลาดทุนโดยรวมที่ยังไม่เอื้ออำนวย
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก โดยทิสโก้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% ด้วยแรงส่งหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายงบประมาณ
ทั้งงบประจำและงบลงทุนต้องล่าช้าออกไป ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยอย่างเร็วแรงในตลาดโลกที่อาจก่อให้เกิด Unintended Consequences เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นแรงกดดันต่อค่าครองชีพและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงเช่นในปัจจุบัน
“อย่างไรก็ดี กลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจที่เชี่ยวชาญ ตามพันธกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ผ่าน 3 กลไกหลัก คือ “Passion” สิ่งที่เรามุ่งมั่น “Professional” สิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญ และ “Social” เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สังคมได้ โดยมีตลาดหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชัดเจนเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนไทย ด้วยการเข้าไปช่วยคนไทยวางแผนทางการเงินอย่างจริงจังในทุกกลุ่มเป้าหมาย
โดยสร้างจุดร่วมของผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมาดูแลลูกค้า ครอบคลุมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่ตอบโจทย์ครบทั้ง Wealth Creation และ Wealth Protection การออกแบบบริการให้แก่ลูกค้ารายใหญ่แบบองค์รวม (Total Solutions) โดยเฉพาะในลูกค้ากลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเร่งขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบแก่ชุมชนและธุรกิจรายย่อย ตามหลัก Responsible Lending และการแก้หนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ผ่านการรวมหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า เป็นต้น”
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาส 2 ปี 2565 โดยรายได้จากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 4.1% จากการเติบโตของธุรกิจการให้สินเชื่อ ซึ่งส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 91.8% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.8% เนื่องมาจากความผันผวนและซบเซาของตลาดทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังอ่อนตัวลงเล็กน้อย ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 โดยบริษัทยังคงมีเงินสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง พร้อมรองรับต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่ 224.0%
สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 กำไรสุทธิมีจำนวน 3,646 ล้านบาท ทรงตัวจากครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 8.7% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 3.5% จากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ กำไรจากเงินลงทุน และค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 10.6% จากค่าใช้จ่ายลงทุนต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ที่ 17.6%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 230,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปี 2565 จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 26.5% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” เติบโตต่อเนื่อง 12.1% ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 2.2% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนหน้า ตามกลยุทธ์การขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างเข้มงวด และการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.0% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.5% และ 3.6% ตามลำดับ