โบรกอัพคำแนะนำ “ถือ” GPSC มองกำไรฟื้นรับ SPP ดีขึ้น-ต้นทุนเชื้อเพลิงลด
โบรกปรับคำแนะนำ GPSC เป็น “ถือ” หลังราคาหุ้นปรับตัวลงมาแล้ว 27% ตั้งแต่ต้นปี เชื่อเป้าใหม่ 50 บาท/หุ้น สะท้อนแนวโน้มธุรกิจที่แย่ลงของ GPSC ไปมากพอแล้ว มองกำไรเริ่มฟื้นรับอานิสงส์ SPP ดีขึ้น และต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง
บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินเกี่ยวกับหุ้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยปรับราคาเป้าหมาย (ปีฐาน 66) ของ GPSC ลงเป็น 50 บาท (จาก 65 บาท) ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1) เราคาดผลตอบแทนจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย (ผ่านการถือหุ้น 43% ใน Avadaa, AEPL) ตํ่าลง บนอัตราดอกเบี้ยและราคาต้นทุนแผงโซลาร์ที่สูงขึ้น 2) แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน AEPL ดูจะให้ผลตอบแทนตํ่า แต่ GPSC ยังต้องเพิ่มเงินลงทุนใน AEPL เพื่อหนุนการเติบโตให้ได้ตามแผน
และ 3) ปรับลดโอกาสการขยายโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ Li-ion ของ GPSC ลงเนื่องจากมองว่าความต้องการใช้แบตเตอรี่แบบ semi solid state ใน EV จะมีจำกัด แต่เนื่องจากราคาหุ้น GPSC ปรับลงมาแล้ว 27% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือ downside น้อยบนราคาเป้าหมายใหม่ จึงปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ถือ” (จากเดิม ขาย)
ทั้งนี้ GPSC ลงทุน 1.56 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 43% ใน AEPL เมื่อปี 64 แต่ผลการดำเนินงานจาก AEPL ยังน่าผิดหวัง โดยยังส่งผลขาดทุนให้ GPSC ที่ 57/124 ล้านบาท ในปี 64-65 แต่ GPSC เพิ่งประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน AEPL อีก 8.6 พันล้านบาท เพื่อหนุนให้การเติบโตกำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าที่ 11GW ภายในปี 69 (จาก 5GW ในไตรมาส 2/66) ซึ่งแต่เดิมการบรรลุเป้าหมายการเติบโตคาดจะทำได้โดยใช้กระแสเงินสดของ AEPL เองที่ได้รับจากโครงการที่ทยอยเริ่มดำเนินงานกลับมาลงทุนใหม่ แต่คาดเป็นเพราะโครงการเหล่านั้นให้ผลตอบแทนตํ่ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากราคาแผงโซลาร์และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในประมูลโครงการที่รุนแรง ทำให้ต้องการเงินเพิ่มทุน มูลค่าของ AEPL บนราคาเป้าหมายของเราจึงลดลงเหลือ 3.7 บาทต่อหุ้น GPSC (จากเดิม 6.3 บาท)
อย่างไรก็ตาม มองโอกาสการเติบโตของแบตเตอรี่ Li-ion แบบ semi solid state ซึ่ง GPSC ได้รับสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายไปยังตลาดอาเซียนและจีนจาก 24M Technologies Inc. (24M) นั้นค่อนข้างจำกัด จึงปรับสมมติฐานกำลังการผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC (รวมในไทยและจีน) ลงเป็น 8GWh ในปี 73 (จาก 14GWh) เนื่องจากแบตเตอรี่ Li-ion แบบเหลวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดูจะให้ประสิทธิภาพที่เพียงพอสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดใหญ่ (mass-market) แล้วในราคาเหมาะสม
โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรม EV ไม่น่าจะต้องเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ semi solid state ที่แม้จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่า แต่มาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องทำกระบวนการตรวจสอบคุณภาพใหม่หมด อีกทั้งโรงงานทั้ง 2 แห่งของ GPSC คือ ‘G-Cell’ ในไทย และ ‘Axxiva’ ในจีน ยังล่าช้าในการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์มาแล้วเกือบสองปี
ทั้งนี้ ด้วยการมีโครงการ SPP เป็นสัดส่วนใหญ่ของธรุกิจ จึงมองว่ากำไรของ GPSC จะฟื้นตัวบนอัตรากำไรของ SPP ที่ดีขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงเร็วกว่าอัตราค่าไฟฟ้า เรายังคาด EPS ของ GPSC เติบโตต่อได้อีก 17/7% ในปี 67-68 หลังเพิ่มขึ้น 28 เท่า ในปี 66 จากฐานตํ่า หลังปรับกำไรลง 23/23/13% บนสมมติฐาน SPP ใหม่ของเรา (Exhibit 3)