ขีดเส้นตาย STARK ส่งผลสอบ “สเปเชียล ออดิท” วันนี้! วัดใจบทสรุป “Forensic” ดีลอยท์
ขีดเส้นตาย STARK ส่งผล “สเปเชียล ออดิท” ที่มี PWC เป็นผู้จัดทำวันนี้ตามคำสั่งก.ล.ต.! งง “ทีมวนรัชต์” ตั้ง “ดีลอยท์” ซึ่งเป็นอดีตเฟิร์มผู้สอบ STARK ทำ Forensic บัญชีคู่ขนานขึ้นมาเองเพื่อแจ้งความดีเอสไอข้ามหัวก.ล.ต. วัดใจงานนี้ขีดเส้นทางการเงินไปถึงผู้ร้ายตัวจริงได้หรือไม่? หลังผู้เสียหายคาดโทษดีลอยท์! หากพบมีการตัดตอนอีกพร้อมฟ้องร้องสุดตัว หลังก่อนหน้านี้ตรวจบัญชี STARK บกพร่องมาแล้วหลายปี จนเกิดเป็นเรื่องฉาวอยู่ในตอนนี้ ฟาก “ปลัดคลัง” ถอนหายใจ! “ดีนะบอร์ดปตท.ตัดสินใจล้มดีลไม่งั้นต้องเอาหัวมุดดินแน่” สั่งไล่ล่าต้นตอตัวการนำเรื่องนี้เข้าไปปตท.ได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.ค. 66) เป็นวันครบกำหนดที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) งบการเงินปี 2565 ที่จัดทำโดยบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC) ภายหลังก.ล.ต.สั่งให้มีการขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ประเด็นที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกรรมที่มีความผิดปกติ จากกำหนดเดิมต้องส่งภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2566 แต่ STARK ขอขยายระยะเวลาการขาย ส่งผล Special Audit มาเป็นวันนี้
ทั้งนี้ ก.ล.ต.พบว่าการดำเนินการตรวจสอบ Special Audit ของ STARK มีความคืบหน้าไประดับหนึ่งแล้ว แต่มีประเด็นที่ต้องใช้เวลาในการขอเอกสาร “แบงก์สเตตเมนต์” จากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกและผู้สอบบัญชีมีเหตุที่ต้องขยายขอบเขตการตรวจสอบเพิ่มเติมอีก
โดยที่ผ่านมาก.ล.ต.เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผล จากประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี และผลการตรวจสอบ Special Audit ระยะแรก พร้อมมีการกล่าวโทษ STARK อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารรวม 10 ราย รวมถึงมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินผู้ถูกกล่าวโทษดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา STARK ได้มีการว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เพื่อเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (Forensic Accounting) หลังจากผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารชุดใหม่ นำโดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร STARK ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เกี่ยวกับพฤติการณ์อันควรสงสัยต่อประเด็นการดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่จนทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย
โดยการว่าจ้าง “ดีลอยท์” เข้ามาทำ Forensic Accounting นั้น เป็นการดำเนินการขึ้นมาเองของ STARK โดยไม่ได้อยู่ในคำสั่งของก.ล.ต.แต่อย่างใด เนื่องจากก.ล.ต.มีคำสั่งให้ทำ Special Audit เพียงเท่านั้น
แหล่งข่าวจากวงการผู้สอบบัญชี ระบุกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ในลักษณะตั้งข้อสังเกตถึงวัตถุประสงค์ในการว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ชฯ เข้ามาทำ Forensic Accounting ทั้งที่ต้องมีการทำ Special Audit อยู่แล้ว ว่าต้องจับตาดูการตรวจสอบของดีลอยท์อย่างละเอียดว่าจะสามารถแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเงินที่เกิดขึ้น ระหว่างบริษัทนอกกลุ่ม STARK กับบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม STARK ได้ครบถ้วนและถูกต้องมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเส้นทางการเงินดังกล่าวจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าสุดท้ายแล้วใครคือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง และที่สำคัญ STARK จะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสาธารณะได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ด้วย
ขณะเดียวกัน ดีลอยท์ ทู้ชฯ เป็นบริษัทผู้สอบบัญชีงบการเงินของ STARK ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 รวมถึงอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ STARK และ/หรือ นายวนรัชต์ ที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแม้ทีม Forensic ของดีลอยท์ในครั้งนี้จะเป็นคนละทีมกับผู้สอบบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นอื้อฉาวดังกล่าว แต่ยังคงต้องจับตามองว่าผลการสอบ Forensic Accounting จะออกมาสอดคล้องหรือย้อนแย้งกับการทำ Special Audit ของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ มากน้อยเพียงใดหรือไม่ และที่สำคัญหน่วยงานกำกับอย่างก.ล.ต.และหน่วยงานเจ้าของคดีอย่างดีเอสไอ จะอ้างอิงหรือให้น้ำหนักกับข้อมูลทั้ง 2 ส่วน เพื่อประโยชน์ในทางคดีอย่างไร
สำหรับการทำ Forensic Accounting หรือการบัญชีนิติวิทยา เป็นการสืบสวนที่มุ่งเน้นการทุจริตทางการเงินโดยเฉพาะ เป็นการสอบทานเอกสารข้อมูลทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง อันอาจเป็นข้อมูลหลัก ฐานประกอบการฟ้องร้อง หรือการเรียกร้องเงินประกันความเสียหาย รวมทั้งคดีอาญาได้
ส่วนการทำ Special Audit หรือการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ เป็นการตรวจสอบในกรณีที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารหรือกรณีที่มีการทุจริตหรือการกระทำที่ส่อไปทางทุจริต ผิดกฎหมาย หรือกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต หรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้น โดยผู้ตรวจสอบฯ จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อค้นหาสาเหตุข้อเท็จจริง ผลเสียหาย หรือผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกัน
ขณะที่ กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ของ STARK กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มผู้เสียหายกำลังรอดูรายละเอียดและความชัดเจนของผลการทำ Special Audit ที่จะออกมาในวันนี้ และที่สำคัญผลการทำ Forensic Accounting ที่จัดทำโดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ในฐนะที่เคยเป็นผู้สอบบัญชี STARK แม้ผู้สอบบัญชีและผู้ทำ Forensic จะเป็นคนละทีมกันก็ตาม เพื่อพิสูจน์และค้นหาว่ามีใครคือผู้กระทำความผิดและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เพื่อกลุ่มผู้เสียหายจะได้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดมาลงโทษและเรียกร้องค่าเสียกันต่อไป
‘คลัง’ ลั่นคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตนเอง.!
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังคงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้ เพราะเป็นการลงทุนส่วนบุคคลที่ผู้ซื้อต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยตนเองอยู่แล้ว โดยระบุว่า “คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตนเอง” เพราะจะให้รัฐบาลเข้าไปอุ้มช่วยเหลือทุกเรื่องมิได้
ส่วนประเด็นการแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องของ STARK ทางกรมสรรพากรได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหาของ STARK เป็นการดำเนินการทางธุรกิจที่ผิดหลักธรรมาภิบาลมานานเกินกว่า 2 ปี ต้องยอมรับว่าคลังตามไม่ทัน และหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบก็ตามไม่ทัน ซึ่งเรื่องความไม่โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจเคยเกิดขึ้นมาหลายกรณีแล้ว เช่น มีการหลอกว่าขนถ่านหินเข้ามาแล้วขอกู้เงินในกรณีของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ก็ออกมาลักษณะเดียวกันหมด
เพราะฉะนั้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะต้องดูแลให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ส่วนกรณีธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกของ STARK ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งให้มีการกันสำรองหนี้ไว้หมดแล้ว แต่ต้องมาดูว่าช่วงขณะที่ธนาคารตัดสินใจปล่อยกู้ออกไปนั้น มีเหตุผลเพียงพอมากน้อยแค่ไหนและต้องดูความรับผิดชอบว่าอยู่ในขั้นตอนอย่างไรบ้าง
สำหรับประเด็นที่กลุ่มนายวนรัชต์ เคยพยายามขายหุ้น STARK ให้กับปตท.นั้น นายกฤษฎา ระบุว่า “ดีที่บอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ตัดสินใจไม่ลงทุนกับ STARK ไม่อย่างงั้นป่านนี้คงต้องเอาหัวมุดดิน ต้องมาดูว่าใครเป็นคนเสนอ ใครเป็นที่ปรึกษาการเงิน (FA) เอาขึ้นมาได้อย่างไร เรื่องขึ้นมาแบบนี้ผ่านมาถึงคณะกรรมการปตท. ก็ต้องฝากประธานอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และกบข.ด้วยว่าต้องระวังในเรื่องการลงทุน สิ่งที่กระทรวงการคลังให้ทำคือการแก้กฎระเบียบให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที
“ทุกวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไกลจากมือเราที่จะไปเอื้อมถึง เพราะกระทรวงการคลังไม่ได้กำกับดูแลโดยตรง คนที่รู้เรื่องพวกนี้คนแรกคือตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่สองถัดมาคือก.ล.ต. กว่าเรื่องจะถึงมือกระทรวงก็นาน จำเป็นต้องมีหน่วยพิเศษเข้ามาดูรายละเอียดตรงนี้ วันนี้จะมีเพียงแต่นักวิชาการไม่ได้แล้ว ต้องมีคนรู้จริงแบบตำรวจไปจับโจรบ้าง ต้องเป็นหน่วยบู๊ ต้องปฏิบัติการเร็ว ก็เป็นเพียงคำแนะนำว่าก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรตั้งหน่วยงานแบบนี้ เพื่อปิดช่องว่างทำงานแบบตำรวจปราบโจร”