ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ “คราวด์ฟันดิง” อัพวงเงินลงทุนรายบุคคล 50 ล้าน “สถาบัน-รายใหญ่” ไม่จำกัด
ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ "คราวด์ฟันดิง" ชูปรับเพิ่มวงเงินลงทุนรายบุคคล 50 ล้าน “สถาบัน-รายใหญ่” ไม่จำกัด หวังส่งเสริมการระดมทุน SME และ startup มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิงและประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการระดมทุนของ SME และ startup ให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ และเพื่อให้การกำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิงและ Funding Portal มีความชัดเจน เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) และประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กฎเกณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการระดมทุนของ SME และ startup มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ และเพื่อให้การกำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิงและ Funding Portal มีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนและเหมาะสมในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น รวมทั้งไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุนเกินความจำเป็น โดย ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อหลักการและร่างประกาศเมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 ซึ่งผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย
ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.เพิ่มวงเงินการเสนอขายหลักทรัพย์คราวด์ฟันดิงของแต่ละบริษัทต่อผู้ลงทุนรายบุคคล (retail investor) จากไม่เกินรายละ 40 ล้านบาทเป็นรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท (นับรวมทุกหลักทรัพย์ของบริษัท) และไม่จำกัดวงเงินระดมทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่
2.ยกเว้นการทำแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน (knowledge test) ก่อนการจองซื้อหลักทรัพย์คราวด์ฟันดิง สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่
3.ปรับปรุงนิยามและถ้อยคำ “ผู้ลงทุนสถาบัน” ในประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์คราวด์ฟันดิงและการเสนอขายหุ้นของบริษัทจำกัดโดยผู้ถือหุ้น ให้หมายความรวมถึง กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) หรือ ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) และผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนอื่น ๆ
4.กำหนดให้ Funding Portal ที่ประสงค์จะขอต่ออายุความเห็นชอบสามารถยื่นคำขอล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบ โดยให้ ก.ล.ต. แจ้งผลการพิจารณาคำขอความเห็นชอบ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ ก.ล.ต. ได้รับเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน
5.ปรับปรุงการกำกับดูแล Funding Portal ภายหลังได้รับความเห็นชอบ โดยกำหนดให้ Funding Portal มีหน้าที่แจ้ง ก.ล.ต. ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือการปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น กรณีที่ Funding Portal ประสงค์จะระงับการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติได้ตามที่กฎเกณฑ์กำหนด และมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ ผู้จัดการ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นต้น
ทั้งนี้ ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566