“ศาลอังกฤษ” ตัดสิน “ณพ” พร้อมพวก 14 ราย ยื่นหลักฐานเท็จคดีโกงหุ้น WEH
“ศาลอังกฤษ” ตัดสิน “ณพ ณรงค์เดช” กับพวก 14 ราย กระทำผิดสมคบคิดหลอกซื้อหุ้น WEH สั่งชดใช้ค่าเสียหาย 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ “นพพร ศุภพิพัฒน์” ในคำพิพากษาศาลฯ ระบุชัดพฤติกรรม “ณพ” กับพวกที่ให้การโกหกหน้าตาย-ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ และมีทนายความช่วยปลอมแปลงเอกสาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอังกฤษมีคำพิพากษาตัดสินให้นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบ และต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายทั้งเงินค้างชำระ และดอกเบี้ยมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ให้แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูกนายนพพรยื่นฟ้องในข้อหาสมคบคิดกันชักจูงใจ ด้วยข้อมูลหลอกลวงให้ขายหุ้น WEH จากกรณีนายนพพรยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 50,000 ล้านบาท)
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และนายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB จำเลยที่ 11 และนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 ให้พ้นจากข้อหาและจำเลยในคดีดังกล่าว
สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 17 ราย คือ นายณพ ณรงค์เดช (จำเลยที่ 1) นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ อดีตซีอีโอ WEH (จำเลยที่ 2) นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหาร WEH และ REC (จำเลยที่ 3) นายอามาน ลาคานี อดีตผู้บริหาร WEH (จำเลยที่ 4) นางคาดีจา บิลาล ซิดดิกี ภรรยานายลาคานี (จำเลยที่ 5) บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส จำกัด (จำเลยที่ 6) บริษัท เคเลสตัน โฮลดิงส์ จำกัด (จำเลยที่ 7) บริษัท เอแอลเคบีเอส จำกัด (จำเลยที่ 8)
บริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด (จำเลยที่ 9) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (จำเลยที่ 10) นายอาทิตย์ นันทวิทยา (จำเลยที่ 11) บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด (จำเลยที่ 12) นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ (จำเลยที่ 13) ดร.เกษม ณรงค์เดช (จำเลยที่ 14) คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา (จำเลยที่ 15) นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง WEH (จำเลยที่ 16) และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ อดีตซีเอฟโอ KPN Group (จำเลยที่ 17)
จากเนื้อหาบางส่วนของคำพิพากษาทั้งหมด (ช่วงย่อหน้าที่ 899-905) ศาลฯ ระบุว่า หลักกฎหมายในการรับฟังพยานเอกสาร เป็นเอกสารที่เกิดขึ้นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ที่พิพาท และอ้างอิงหลักการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลในคดีอื่น ๆ ได้เคยวางหลักไว้ กล่าวคือ ศาลฯ จะให้น้ำหนักในสิ่งที่พยานจำได้เกี่ยวกับบทสนทนาในการประชุมต่าง ๆ เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะรับฟังพยานเอกสารและข้อเท็จจริงที่มีความเป็นไปได้ด้วย
อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลฯ พบว่านายณพและจำเลยผู้สมรู้ร่วมคิด ได้ปลอมแปลงเอกสารสำคัญจำนวนหนึ่ง และลงวันที่ย้อนหลัง เพื่อให้เอกสารเหล่านั้นดูเหมือนกับว่าเป็นหลักฐานที่เกิดช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อให้แผนการยึดหุ้น WEH เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ศาลพิเคราะห์พยานเอกสารคดีนี้แล้วเห็นว่า เอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ
ส่วนหลักการพิสูจน์ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฉ้อโกง เพื่ออธิบายว่าศาลฯ จะใช้หลักการต่อไปนี้ในการวินิจฉัยว่ามีการฉ้อโกงหรือไม่ หลักการดังกล่าวคือ ปกติแล้วฝ่ายโจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์ต่อศาลในคดีฉ้อโกง และต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ถึงขั้นที่แสดงได้ว่าบุคคลได้กระทำการโดยมีเจตนาทุจริต ไม่ใช่เพียงแค่ทำโดยไม่ระมัดระวัง และต้องสมเหตุสมผลกับระดับความหนักของข้อกล่าวหาด้วย
โดยคดีนี้ศาลฯ จะรับฟังข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวไว้ในคดีและมีหลักฐานรองรับ ศาลฯ มองว่าภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีนี้ คือการแสดงข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำของจำเลย มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต หรือการฉ้อโกง มากกว่าให้รับฟังว่าเป็นการกระทำโดยบริสุทธิ์ใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ
แม้ว่าตามปกติศาลฯ จะไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงแรงจูงใจของจำเลย แต่แรงจูงใจถือเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือไม่ โดยศาลฯ จะพิจารณาว่ามีผลประโยชน์ใดที่ทำให้ทำการฉ้อโกงหรือไม่
จำเลยโกหกแบบหน้าตาเฉย!
ทั้งนี้ ศาลฯ ระบุว่า การพิจารณาคดีนี้มีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังพยานหลักฐานหลักเฉพาะชิ้นที่ถูกต้องแท้จริง เพราะศาลฯ พิเคราะห์แล้วว่าพยานหลายคน (พยานฝ่ายจำเลย) ที่ให้การต่อศาลฯ นั้น โกหกศาลฯ เสียส่วนมาก และหลักฐานของพยานเหล่านั้นไม่น่าเชื่อถือเลย อีกทั้งพยานเหล่านี้ยังไม่แสดงความเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรเลยที่จะแสดงเอกสารเท็จ หรือหลอกลวงผู้อื่น เหมือนกับว่าไม่สามารถรับรู้ได้แล้วว่าความจริงคืออะไร
พร้อมกันนี้ ศาลฯ มีการระบุถึงพยานแต่ละคน เริ่มจากนายณพ ศาลฯ ระบุว่า ไม่สามารถให้การด้วยความสัตย์จริงเรื่องใด ๆ ได้เลย และพร้อมจะพูดทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตัวเอง ส่วนนายณัฐวุฒิ ศาลฯ ระบุว่า จงรักภักดีต่อนายณพและพร้อมจะโกหกทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อนายณพ แม้จะเป็นความเท็จก็ตาม
ขณะที่ นายสุรัตน์, นายธันว์, นาย Lakhaney ศาลฯ ระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในแผนการของนายณพ ส่วน Ms.Collins ศาลฯ ระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนการของนายณพ แม้จะไม่มากเท่านายธันว์ และ Lakhaney ส่วนคุณหญิงกอแก้ว ศาลฯ ระบุว่า รับบทเป็นลูกคู่กับลูกเขยของตน และพร้อมจะให้การเพื่อสนับสนุนนายณพเสมอแม้จะเป็นความเท็จ
นอกจากนี้ ศาลฯ ระบุว่า มีที่ปรึกษาทางกฎหมายรายหนึ่ง เป็นผู้ร่างเอกสารเท็จหลายรายการในฐานะทนายความ และอยู่ ในกลุ่มกับนายณพอย่างเหนียวแน่น
ขณะเดียวกัน หลักฐานของนายนพพร แม้จะไม่ตรงไปตรงมาเท่าไรนัก แต่เข้าใจได้ว่าออกมาจากความคับข้องใจที่ฝ่ายจำเลยได้หักหลังความเชื่อใจของเขา ศาลฯ มองว่า นายนพพรยังเป็นพยานที่น่าเชื่อถือได้มากกว่า
สำหรับจำเลยที่ 13 คือ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ พบว่า นั่งเป็นกรรมการอยู่หลายบริษัท ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC ตำแหน่งรองประธานกรรมการ และบริษัท ยักษา จำกัด ตำแหน่งกรรมการ
อย่างไรก็ตาม 31 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ยื่นขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และยื่นขอลาออกจากรรมการและกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
‘ประเดช’ แจงเหตุซื้อหุ้น WEH
นายประเดช กิตติอิสรานนท์ เปิดเผยว่ากรณีศาลอังกฤษมีคำพิพากษาใดก็ตาม ไม่มีผลผูกพันกับศาลไทย ที่จะต้องปฏิบัติตามศาลอังกฤษที่มีคำพิพากษาไว้ หากจะให้มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย ต้องยื่นฟ้องกันใหม่ในประเทศไทยเท่านั้น ในส่วนของผมไม่ได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลอังกฤษ และน่าจะมีฝ่ายใดให้การหรือเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ
โดยพิจารณาดูตามคำพิพากษาของศาลอังกฤษแล้ว อาจเป็นการฟังความจากฝ่ายเดียว ฉะนั้นความจริงจะปรากฏเมื่อหากคู่ความฝ่ายใดในคดีที่ศาลอังกฤษได้มีการมายื่นฟ้องในศาลไทย หากมีการให้การเท็จใด ๆ บุคคลนั้นอาจจะมีความผิดฐานเบิกความเท็จ สำหรับผมพร้อมจะพิสูจน์ความจริงที่ศาลไทย
สำหรับการซื้อหุ้น WEH จากนายณพ ณรงค์เดช และบริษัท โกลเด้น มิวสิค (GML) โดยตามข้อเท็จจริงเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2560 นายณพ ณรงค์เดช และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ได้พากันมาขอให้ช่วยซื้อหุ้น WEH จากบริษัท GML ที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น WEH เพราะนายณพ ต้องการนำเงินไปจ่ายค่าซื้อหุ้น WEH จากนายนพพร ไม่เช่นนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะไม่ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5 โครงการ ให้แก่ WEH รวมถึงโครงการพลังงานลมวะตะแบก จะไม่สามารถเบิกเงินกู้จาก SCB มาใช้ในการก่อสร้างต่อไปได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับ WEH เป็นอย่างมาก
WEH-NUSA ยันไม่กระทบธุรกิจ
นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เปิดเผยหลังศาลอังกฤษมีคำตัดสินคดีหุ้น WEH ว่า กรณีมีข่าวคดีการฉ้อโกงหุ้น WEH ที่ประเทศอังกฤษ บริษัทขอชี้แจงว่า เป็นเรื่องการฟ้องร้องในประเด็นการชำระค่าหุ้น WEH ระหว่างผู้ถือหุ้นกันเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและการฟ้องร้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว และได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ศาลที่ประเทศอังกฤษจะทยอยตัดสินข้อฟ้องร้องต่าง ๆ เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ไม่ว่าผลการพิพากษาตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล ขอยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น
นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ว่า ศาลอังกฤษได้มีคําตัดสินให้นายนพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ให้แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จํากัด หรือ WEH นั้น
บริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นใน WEH สัดส่วน 7.12% จากหุ้นทั้งหมดของ WEH ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ต่อคําตัดสินดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นฝ่ายหนึ่งกับผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายหนึ่งของ WEH โดยบริษัทได้รับการยืนยันจากผู้บริ หาร WEH ว่า ข้อพิพาทดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวบริษัท WEH อีกทั้งหุ้นที่บริษัทเข้าซื้อจำนวน 7.12% ไม่ได้อยู่ในข้อพิพาทดังกล่าวแต่อย่างใด