5 โบรกเชียร์ลงทุน “น้องใหม่ IPO” เคาะเป้า GFC สูงสุด 11.30 บาท
5 โบรกเกอร์ประสานเสียงเชียร์ลงทุนหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ GFC ผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก พร้อมเคาะราคาเป้าหมายที่กรอบราคา 9-11.30 บาท เตรียมเปิดสาขาใหม่ 2 แห่ง “สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และ คลินิกสาขาอุบลราชธานี” หนุนผลงานปี 67 โตแกร่ง
บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเป้าหมายที่เหมาะสมของ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC ไว้ที่ระดับราคา 11.3 บาทต่อหุ้น อ้างอิง P/E ปี 67 ที่ 28 เท่า พร้อมมองทิศทางการเติบโตทางธุรกิจ GFC ว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตในปี 66-68 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 21.3% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรสุทธิของ GFC จะเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 66 เป็น 21% ในปี 68 อย่างไรก็ตามจากการขยายสาขาใหม่ “สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และ คลินิกสาขาอุบลราชธานี” ซึ่งเป็นการรองรับการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันการเติบโตของ GFC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ประเมินราคาเหมาะสมของ GFC ในปี 67 ที่ 10.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า รายได้จากการดำเนินงานของ GFC ในช่วงปี 66-67 จะอยู่ที่ระดับ 312 ล้านบาท และ 479 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 32% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุน คือ
1) คลินิกสาขาเดิมพระราม 3 เติบโตตามแนวโน้มจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และ 2) การขยายคลินิก สาขาใหม่ 2 แห่ง คือ คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 และคลินิกสาขาอุบลราชธานี บนสมมติฐาน %GPM คาดที่ระดับ 43.8% และ 45.6% ตามลำดับ (ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 47.1%) ลดลงจากค่าเสื่อมราคาของอาคารใหม่ (คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9)
ขณะที่ %SG&A/Sales คาดที่ระดับ 21% และ 22.9% ตามลำดับ (ปี 65 อยู่ที่ระดับ 17.3%) เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการนำหุ้นเข้าตลาดฯ และปี 67 มีค่าใช้จ่ายปรับลดลง หลังจากนำเงินเพิ่มทุนไปจ่ายชำระคืนสถาบันการเงิน ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 66-67 ที่ 49 ล้านบาท ลดลง 25% จากปีก่อน และ 82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อน ตามลำดับ หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ได้ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ GFC ปี 67 ที่ 10.10 บาทต่อหุ้น โดยคาดการณ์การเติบโตของ GFC ในปี 66 คาดมีกำไรสุทธิ 52 ล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มจำนวนบุคลากรและพนักงานรองรับการเปิดสาขาพระราม 9 ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน และค่าใช้จ่าย SG&A เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน เพิ่มขึ้นกว่ารายได้ 13% จากปีก่อน
รวมทั้งคาดการณ์ว่ามี %Gross margin 45% ส่วนปี 67-68 คาดกำไรสุทธิ 77 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปี 32% CAGR จากปัจจัยสนับสนุน 1) รายได้เติบโตต่อปีเพิ่มขึ้น 24% CAGR จากการเปิด 2 สาขาใหม่ ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 2) ปี 68 เริ่มเห็นผลบวก Economies of scale ของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มี %Gross margin ที่ 45.9% ดีขึ้นจากปี 67 และ 3) ค่าใช้จ่ายการเงินลดลงตามเงินกู้สถาบันการเงินลดลงในปี 67-68
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ให้ราคาเหมาะสม 10 บาท (บน EPS ที่ 0.39 บาท ปี 67) ด้วยวิธีเปรียบเทียบ Relative PE ของปี 67 กับค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีคลินิก IVF เกือบทุกแห่ง และบริษัทต่างประเทศที่ทำคลินิก IVF ซึ่ง เทรด P/E ปี 67 ที่ระดับ 20.5-25.5 เท่า แม้ GFC เป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่หากเทียบอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของ GFC ปี 67 ที่ 45% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10-15% ของหุ้นกลุ่ม
ดังนั้นราคาเหมาะสมควรใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่มโรงพยาบาลของไทยที่ระดับ P/E ที่ 25.5 เท่า พร้อมทั้งได้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 67 ของ GFC เติบโต 45% จากการเปิดคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 และคาดว่าบริษัทจะยังคงศักยภาพในการเติบโตในปี 66-67 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัย หนุนหลักมาจากการเปิดคลินิกสาขาใหม่ในไตรมาส 4/66 และสาขาอุบลราชธานี ในไตรมาส 1/67 รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีรายได้บริการตรวจโคโมโซม และฝากไข่เพิ่มมากขึ้นหลังมีขยาย LAB เพิ่มขึ้น
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเหมาะสมที่ 9 บาทต่อหุ้น อิง PER ปี 67 ที่ 25 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม รพ. เนื่องจากการรักษาภาวะมีบุตรยาก มีความซับซ้อนและต้องการความใส่ใจมากกว่าการรักษาโรคทั่วไป รวมถึงมีอัตราในการทำกำไรมากกว่ารพ.ทั่วไป
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ประเมินกำไรปี 66-67 อยู่ที่ 51 ล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อน และ 78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อน จากรายได้ปี 66-67 เติบโตเพิ่มขึ้น 15% และ 37% จากปีก่อน จากปัญหาของสุขภาพของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ที่มีความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนคนไข้เข้ารับการรักษามากขึ้น
ขณะที่รายได้เติบโตแต่ในปี 66 กำไรถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายของพนักงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจากการเตรียมตัวขยายสาขาในช่วงปลายปี 66 และเชื่อว่าบริษัทจะมีกำไรจะกลับมาเติบโตในปี 67 จากการขยายฐานคนไข้ทั้งในกรุงเทพฯ และอุบลราชธานี ที่สามารถรองรับทั้งคนไข้ในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ จีน, อินเดีย, ยุโรป, ลาว และกัมพูชา ได้มากขึ้น