PIMO หั่นเป้ายอดขายปี 66 เหลือโต 20% ลุ้น Q3 ฟื้น รับออเดอร์ “ตปท.” ต่อเนื่อง
PIMO ส่งซิกยอดขายไตรมาส 3/66 ปรับตัวดีขึ้น รับคำสั่งซื้อลูกค้าต่างประเทศต่อเนื่อง ตั้งเป้ากำลังผลิต 7 หมื่นลูก แต่หั่นเป้ายอดขายเหลือโต 20%
นายปภัสร์ อิทธิโรจนกุล ผู้จัดการสายงานการผลิต และนางสาวนรีรัตน์ อิทธิโรจนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสนับสนุนองค์กร บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ว่าแนวโน้มยอดขายไตรมาส 3/2566 จะทำสูงสุด เนื่องจากเริ่มมีออเดอร์ลูกค้าต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง โดยการส่งออกอเมริกาเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ยังไม่ค่อยมาก ซึ่งคาดการณ์ว่ายอดผลิตจะมากกว่า 60,000 ลูกต่อเดือน หรือคาดว่าช่วงไตรมาส 3/2566 จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 ลูก สำหรับแผนพัฒนา EV มอเตอร์ ยังคงขึ้นอยู่กับลูกค้า ซึ่งกำลังเตรียมงบในการทดลองหลายมอเตอร์หลายอย่าง
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตกว่าครึ่งปีแรก แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น มาจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจต่างประเทศยังผันผวน จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายของลูกค้าในต่างประเทศลดลง ซึ่งตอนนี้มีการลงทุนเครื่องจักร
ส่วนเงินที่ได้มาจากวอแรนต์นำไปลงทุนกับกองทุนเสี่ยงความต่ำ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัทมีลูกค้าต่างประเทศต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศออสเตรเลีย และประเทศแคนาดาเพิ่มขึ้น เริ่มมีออเดอร์เข้ามาแล้ว สำหรับยอดขายเป้าหมายที่วางไว้ 1.2 พันล้านบาท อาจจะมีการปรับเป้าลง 20% ตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการควบคุมต้นทุน ยังคงสามารถควบคุมต้นทุนลดลงได้ค่อนข้างเยอะ และยังเชื่อว่าต้นทุนยังสามารถปรับตัวลดลงได้อีก ส่วนความสามารถในการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นยังคงเดิม ซึ่งมีแผนวางไว้ที่ 10-15%
สำหรับไตรมาสที่ผ่านมาใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 65-70% ซึ่งกำลังการผลิต AC อยู่ที่ประมาณ 65,000 ลูกต่อเดือน ส่วน BLDC จะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลูกต่อเดือน
อนึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 17.90 ล้านบาท ลดลง 41.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 30.58 ล้านบาท สาเหตุจากลูกค้าในต่างประเทศมีความต้องการลดลง ได้แก่ มอเตอร์แอร์,มอเตอร์ปั้มบ้าน, มอเตอร์กำลัง และมอเตอร์ปั้มน้ำ ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย หลังจากอัตราเงินเฟ้อสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 32.72 ล้านบาท ลดลง 48.26% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 63.25 ล้านบาท จากต้นทุนขายยังคงสูงจากราคาวัตถุดิบหลักที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทได้ติดตามสถานการณ์ของการปรับราคาวัตถุดิบอยู่ตลอดเวลา และพยายามหาซัพพลายเออร์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้ราคาวัตถุดิบที่เหมาะสม