WHA โชว์กำไร Q2 โต 2 เท่าตัว รับยอดขายที่ดินทะลัก
WHA แจ้งงบ Q2 กำไรโต 199% แตะ 866 ล้านบาท รับยอดขายที่ดินเพิ่มกว่าเท่าตัวในช่วงครึ่งปีแรก เตรียมปรับเป้ายอดขายที่ดินใหม่ รับการย้ายฐานผลิต จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/66 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3,248.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.5% และกำไรสุทธิ 866.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 199.0% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 3,150.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% และกำไรปกติ 817.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 65
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 66 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 5,688.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,388.8 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 5,570.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% และกำไรปกติ 1,322.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีการเซ็นสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดขายที่ดินอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการย้ายฐานการผลิต โดยเลือกที่จะใช้ประเทศไทยและประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิต ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA เปิดเผยว่า การเติบโตของผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 66 ถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากกระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุนและฐานการผลิตที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามา site visit เพื่อการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มากเป็นประวัติการณ์ ด้วยดีมานด์ของที่ดินอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ บริษัทฯ จึงต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในไทยและเวียดนาม
ธุรกิจโลจิสติกส์ ในครึ่งแรกของปี 66 บริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 74,929 ตารางเมตร และมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 120,904 ตารางเมตร สูงกว่าเป้าหมายสัญญาเช่าระยะสั้นที่กำหนดไว้ 100,000 ตารางเมตร จึงทำให้ครึ่งปีแรก 66 บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้า ภายใต้การถือครองและบริหารรวมทั้งสิ้น 2,784,234 ตารางเมตร จากดีมานด์การเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของบริษัทฯ โดยรวมแตะระดับประมาณร้อยละ 90.5 ส่งผลให้ไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 มีการรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 262.8 ล้านบาท และ 512.4 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งหลังปี 66 ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งสอดรับกับโอกาสที่จะเซ็นสัญญาเช่ากับลูกค้ารายใหม่ ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งมอบพื้นที่เช่าให้กับลูกค้าตามแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการเปิดตัวโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 บนเนื้อที่รวมกว่า 400 ไร่ ด้วยกระแสตอบรับที่ดีและความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้า/ ศูนย์กระจายสินค้าคุณภาพสูงที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องของโครงการเฟส 1 จากกลุ่มลูกค้า อาทิ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และ ผู้ผลิต/ จำหน่ายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ เป็นต้น บริษัทฯ จึงต้องเร่งพัฒนาเฟส 2 ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความสนใจและอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าหลายราย โดยล่าสุด บริษัท Webasto จำกัด หนึ่งใน 100 บริษัทผู้จัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้ลงนามในสัญญาเช่าอาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ขนาดพื้นที่ 13,083 ตารางเมตร ในพื้นที่ของโครงการเฟส 2 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตอกย้ำถึงความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้า/ ศูนย์กระจายสินค้าคุณภาพสูง ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนพัฒนาโรงงานแบบ Built-to-Suit (ส่วนขยาย) ให้กับลูกค้าผู้ผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอชลบุรี 1 เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนธุรกิจ Office Solutions ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าจำนวน 5 แห่ง บนพื้นที่รวมมากกว่า 120,000 ตารางเมตร และภายในไตรมาส 3/2566 นี้ จะมีโครงการที่ดำเนินการใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการ Quant Sukhumvit 25 ย่านสุขุมวิท-อโศก ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน 7 ชั้น พร้อมด้วยพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม เป็นพื้นที่รวม 9,900 ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการอาคารเพื่อการพาณิชยกรรม พื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 และ โครงการ Medical Center แบบ Built-to-Suit พื้นที่กว่า 6,900 ตารางเมตร ที่ได้มีการลงนามในสัญญากับผู้เช่าและเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับ ไอดับบลิวจี พีแอลซี เปิดพื้นที่ทำงานแบบครบวงจร ภายใต้ “รีจัส แอท ดับบลิวเอชเอทาวเวอร์” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 826 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานให้เช่า พื้นที่ Co-Working พร้อมบริการเต็มรูปแบบ และ สำนักงานเสมือนที่พร้อมบริการที่อยู่ ทางธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งนี้ รีจัส แอท ดับบลิวเอชเอทาวเวอร์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีอัตราการเช่าแล้วถึง 22%
“บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี IoT และ เทคโนโลยีควอนตัม เพื่อที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเห็นได้จากการพัฒนาโครงการ Green Logistics และ Green Building ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันศึกษาการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งในด้านบริหารจัดการรถยนต์ในเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล และผสมผสานองค์ความรู้ รวมถึงพนักงานขับรถ (EV Fleet Management Service) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการ Green Logistics ตามแผนของบริษัทฯ” นางสาวจรีพร กล่าว
ส่วนแผนการเตรียมขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART ในปีนี้ ล่าสุดผู้ถือหน่วยกองทรัสต์ WHART ได้มีมติอนุมัติให้ทำการลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินประเภทคลังสินค้าพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 142,583 ตารางเมตร เป็นมูลค่า 3,567 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/66 ตามแผนงานที่วางไว้
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในครึ่งปีแรก 66 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 1,049 ไร่ (ไทย 941 ไร่ / เวียดนาม 108 ไร่) เพิ่มขึ้น 104.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมียอดที่ MOU แล้วรวม 1,310 ไร่ (ไทย 994 ไร่ / เวียดนาม 316 ไร่) ส่งผลให้ไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,470.3 ล้านบาท และ 2,522.8 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยยอดขายที่ดินมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับภาพรวมทางเศรษฐกิจ และทิศทางการลงทุนในประเทศไทย จากการย้ายฐานทุนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รอบโลกที่ยังคงยืดเยื้อที่ได้ส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกได้ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องจัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะประเทศผู้ลงทุนหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เลือกเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น และไม่เพียงแต่กระแสของการ Relocation ขณะเดียวกันการขยายฐานการผลิต (Expansion) ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการเข้ามาลงทุนแบบระยะยาวของนักลงทุนจากทั่วโลก ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ให้กับลูกค้ากว่า 799 ไร่ (ไทย 779 ไร่ / เวียดนาม 20 ไร่)
ขณะที่ยอดขายที่ดินในประเทศไทย ในไตรมาส 2/66 เท่ากับ 562 ไร่ สูงกว่ายอดขายที่ดินรวมทั้งในไทยและเวียดนามในไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ 487 ไร่ โดยในไตรมาสนี้มีกลุ่มลูกค้าหลักมาจากประเทศจีน รองลงมาเป็นลูกค้าจากประเทศไต้หวัน และประเทศญี่ปุ่น ตามลำดับ หากพิจารณาถึงยอดขายที่ดินรวมในประเทศ ครึ่งแรกปี 2566 นั้นสูงกว่ายอดขายที่ดินในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่า 2 เท่าตัว
“ปัจจุบันบริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง รวมนิคมใหม่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีลูกค้าหลายรายได้แสดงความสนใจและมีลูกค้าบางรายได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินในพื้นที่เฟส 1 ไปบางส่วนแล้ว ด้วยกระแสตอบรับที่ดีของเฟส 1 ทำให้บริษัทฯ จึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาเฟส 2 เพิ่มอีก (1,100 ไร่) ในระยะเวลาอันใกล้นี้
อีกทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 พร้อมทั้งยังมีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 (630 ไร่) และโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (460 ไร่)”
ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ครึ่งปีแรก 2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 108 ไร่ และยอด MOU รวม 316 ไร่ สอดคล้องกับปัจจัยหนุนจากภาวะการลงทุนในประเทศเวียดนามที่ปรับตัวดีขึ้นรับอานิสงส์การเคลื่อนย้ายฐานทุนและเศรษฐกิจเวียดนามที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง
ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 – เหงะอาน ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 ขนาด 900 ไร่ และขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การแปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปแล้วกว่าร้อยละ 77 ของพื้นที่เฟส 1
ทั้งนี้จากแนวโน้มความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมสูง บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 บนพื้นที่ขนาด 2,215 ไร่ ซึ่งแม้ขณะนี้จะอยู่ระหว่างก่อสร้าง บริษัทฯ ได้เริ่มมีการนำเสนอโครงการต่อลูกค้าและมีการขายพื้นที่ให้แก่ลูกค้าไปบางส่วนแล้ว โดยล่าสุด ในช่วงไตรมาส 3/66 นี้ บริษัทฯ ได้มีการลงนามในสัญญากับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภทบนพื้นที่ดินรวมกว่า 300 ไร่ ภายในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ 1 – เหงะอาน เฟส 2 ซึ่งการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ถือเป็นการเน้นย้ำถึงจุดเด่นและข้อได้เปรียบของกลุ่มบริษัทและจังหวัดเหงะอาน ทั้งในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความพร้อมของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 67 หรือต้นปี 68 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ในปี 69 หรือ 70 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง มีทิศทางการเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กอปรกับราคาขายที่ดินเฉลี่ย มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเจรจากับนักลงทุนอีกหลายรายและยังได้รับการติดต่อจากนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามา site visit เพื่อการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มากเป็นประวัติการณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในไทยและเวียดนาม โดยภายในสิ้นปี 2566 นี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มเติมได้เกินกว่าเป้าหมายการขายที่ดินจำนวน 1,750 ไร่ (ไทย 1,200 ไร่ / เวียดนาม 550 ไร่) ตามแผนที่วางไว้เมื่อต้นปี และเตรียมปรับเพิ่มเป้าหมายการขายที่ดินอุตสาหกรรม
ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) สำหรับธุรกิจน้ำ ผลประกอบการยังคงมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมสำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 เท่ากับ 40.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 75.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำดิบ (Raw Water) และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Water) ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้ากลุ่มพลังงาน
ขณะเดียวกัน ยอดปริมาณการจำหน่ายน้ำในต่างประเทศนั้นก็มีการเติบโตขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำประปาในประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้สะท้อนออกมาในตัวเลขรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 เท่ากับ 786.5 ล้านบาท และ 1,429.8 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศสำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 รวมทั้งสิ้น 31.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 60.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 2/66 มีปริมาณยอดจำหน่ายน้ำลดลงจากการหยุดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Shutdown) ของลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีบางราย กอปรกับการลดลงของยอดปริมาณการบริหารจัดการน้ำเสีย
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่า ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ยังคงมีปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำดิบเท่ากับ 9.0 ล้านลูกบาศก์เมตร และ ผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่มจำนวน 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มพลังงาน
รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าธรรมเนียมจากการขอใช้น้ำเกินกว่าที่จัดสรร (Excessive Charge) เป็นจำนวน 108.0 ล้านบาท จากกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มจำหน่ายน้ำ Reclamation ให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (ESIE 4) โดยมีปริมาณตามสัญญาเท่ากับ 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
สำหรับธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนามในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 8.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 15.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวตามความต้องการใช้น้ำของลูกค้าโครงการ ดวง ริเวอร์เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ที่ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากการปรับขึ้นราคาค่าน้ำ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ Duong River ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ คาดว่ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำเสียมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ตามความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเปิดดำเนินการในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 และแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 เหงะอาน เฟส 2 เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทัญฮว้า และ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ กว๋างนาม
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 66 เท่ากับ 388.8 ล้านบาท และ 681.8 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/66 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรกลุ่มโรงไฟฟ้า SPPs เพิ่มขึ้น เนื่องจาก Margin ที่ได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมนั้นเพิ่มขึ้น โดยหลักจากการที่ค่า Ft ที่สามารถสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 2/66 บริษัทฯ มีการลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Private PPA กำลังการผลิตรวมประมาณ 18 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ ไตรมาส 2/66 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 167 เมกะวัตต์ และในไตรมาสดังกล่าวได้มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วประมาณ 104 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ราว 717 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) เฟส 1 ประกาศผลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 72-73
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในประเทศไทย เวียดนาม โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ไฮโดรเจน การซื้อขายคาร์บอนและการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท เซอร์ทิส เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด เปิดตัวบริษัทร่วมทุน “RENEX TECHNOLOGY” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (Peer-to-Peer) หรือการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ผ่านคนกลาง โดยใช้ระบบ Two-Sided Bidding Algorithm
รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานบนแพลตฟอร์ม RENEX แล้วถึง 54 รายด้วยกัน
ธุรกิจดิจิทัล WHA มุ่งพัฒนาองค์กรสู่การเป็น Technology Company ภายในปี 2567 และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ภายใต้ภารกิจ Mission To The Sun หรือ MTTS ที่ได้นำเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ SDGs มาเป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของบริษัทฯ
ได้แก่ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนสังคมไทย โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการ Green Logistics ที่เป็นการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศในระยะยาว และโครงการ Digital Healthcare เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการและโซลูชันการดูแลสุขภาพ รวมถึง โครงการ Circular ที่ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Ecosystem ของบริษัทฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดโครงการ WHA Innovation Bootcamp รุ่นที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนในองค์กรให้รู้จักคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถคิด พัฒนาโครงการเชิงนวัตกรรม สู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความยั่งยืน
“จากความพยายามในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาผลักดันองค์กรในทุกมิติอย่างจริงจังนี้เองส่งให้เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ Prime Minister Award: Innovation for Global Challenge ในสาขา Competitiveness ภายในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2023 หรือ SITE 2023 ซึ่งรางวัลดังกล่าวมอบให้แก่องค์กรที่ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ บริษัทฯ และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ Chief Innovation Officer ในฐานะผู้บริหารขององค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทยและสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศไทยไปสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)”
ขณะเดียวกัน WHA Group และกองทรัสต์ WHAIR ได้รับการจัดอันดับโดยสถาบันไทยพัฒน์ให้อยู่ 1 ใน 15 หลักทรัพย์ “บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน” หรือ ESG Emerging List จาก 888 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน และได้เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG 100 เป็นปีแรก ขณะที่กองทรัสต์ WHART สามารถคว้าอันดับกองทรัสต์น่าลงทุนกลุ่ม ESG 100 ประจำปี 66 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซ้อน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน
ล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้รับรางวัล EIA Monitoring Award 2023 ประเภทรางวัลดีเด่น กลุ่มประเภทอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดีเด่นประจำปี 66 ตอกย้ำถึงความรับผิดชอบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรมขององค์กร และมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี