PJW รายได้ Q2 ทะลุ 900 ล้านบาท รับยอดขาย “บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์” โต
PJW กวาดรายได้ไตรมาส 2 แตะ 900 ล้านบาท กำไรพุ่ง 4.6% รับเศรษฐกิจฟื้น ลุยจับมือพันธมิตรสร้าง New S-curve ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ดันมาร์จิ้นพุ่ง มั่นใจผลงานปีนี้โตต่อเนื่อง
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/66 มีรายได้รวม 904.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.58 ล้านบาท หรือ 1.6% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 890.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 41.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.7 ล้านบาท หรือ 4.6% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 10.92 ล้านบาท
โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาครัฐเดินหน้านโยบายเปิดเมืองเต็มรูปแบบรวมถึงประเทศจีนเปิดประเทศได้เร็ว ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่งผลเชิงบวกต่อสินค้าหลักของบริษัทในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งน้ำมันหล่อลื่นและนมเปรี้ยว กลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยอดขายชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่นิวโมเดลเข้ามามาก หลังจากที่ต้องเลื่อนออกไปจากสถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้าง New S-curve ผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยอยู่ระหว่างเพิ่มสายการผลิตในส่วนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ คาดจะเริ่มผลิตได้ภายในปีนี้ รวมทั้งยังคงเปิดโอกาสในการศึกษาและหา Synergy ร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง ดังนั้นน่าจะเป็นอีกธุรกิจที่จะสนับสนุนการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 66 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไว้ที่ 10% โดยจะเร่งแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษาอัตรากำไรในภาวะที่ต้นทุนการผลิต ทั้งค่าแรงและค่าพลังงาน รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
อีกทั้ง บริษัทฯได้วางงบลงทุนไว้ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการลงทุนเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจลอนดรี้ โดยจะเป็นการลงทุนในเรื่องของระบบออโตเมชัน เพื่อประสิทธิภาพของเครื่องจักร ขณะที่ลงทุนในไลน์ผลิตในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ปัจจุบันกำลังกลับมาฟื้นตัว และเชื่อว่าในอนาคตจะยังคงทิศทางที่เติบโตต่อเนื่อง และรองรับการขยายตัวของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต ทั้งนี้ปัจจุบัน มี Backlog จากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ต่อเนื่องไปถึงปี 68 แล้ว