AAV เร่งบริหารต้นทุน หวังดันงบครึ่งปีหลังพลิกกำไร

AAV กางแผนครึ่งปีหลังเร่งบริหารต้นทุนให้กลับไปเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด และเร่งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน หนุนผลงานพลิกกลับมามีกำไร


นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 15 ส.ค.66 ว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2/66 บริษัทมีรายได้รวม 10,398.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 275% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 998.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ณ สิ้นไตรมาส ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้ 1,012.5 ล้านบาท

โดยในไตรมาสที่ 2 ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.64 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 89% ความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 80% อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12.9 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ไต่ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการ โดยนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบินแล้ว 45 ลำ จากฝูงบินทั้งหมด 54 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส สำหรับไตรมาสนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศที่มีอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 94%

ขณะที่ต่างประเทศ จีนถือเป็นตลาดกลยุทธ์หลักของภูมิภาค โดยไทยแอร์เอเชียเพิ่มเที่ยวบินไปยังจีนมากขึ้น และให้บริการแล้ว 108 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 67 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่ 1 ขณะที่ตลาดอาเซียน และอินเดีย ยังได้รับการตอบรับที่ดี

สำหรับครึ่งปีแรกของปี 66 บริษัทมีรายได้รวม 19,641.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 324% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนรายได้บริการเสริมอยู่ที่ 19% ของรายได้จากการขายและบริการ ทั้งนี้ ยังคงรายงานขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 653.1 ล้านบาท จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ฟื้นขึ้นชัดเจนจากขาดทุน 7,278.5 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณที่นั่งที่ทำการบิน (Seat Capacity) กลับมาอยู่ที่ 77% ของช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 9.22 ล้านคน พร้อมคงเป้าหมาย 20 ล้านคนในปีนี้

นายสันติสุข กล่าวด้วยว่า บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถทำกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกได้ 3 ไตรมาสติดกัน สุขภาพของกระแสเงินสด และสภาพคล่องแข็งแรงขึ้นอย่างเด่นชัด

รวมทั้งพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้กลับไปเทียบเท่ากับก่อนช่วงโควิด-19 ทำให้ครึ่งปีหลังเป็นช่วงโอกาสสำคัญของบริษัทในการพลิกฟื้นกลับมาสร้างกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเป็นปีแรกหลังเกิดโรคระบาด ซึ่งได้เตรียมแผนการตลาดที่หลากหลาย พร้อมเพิ่มเครือข่ายการบินในตลาดต่างประเทศ พร้อมเร่งนำเครื่องบินกลับมาปฏิบัติการบินให้เร็วที่สุดจากฝูงบินที่มีอยู่แล้ว 54 ลำ ในปัจจุบัน

ส่วนครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปยังตลาดจีนให้ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 138 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางบินใหม่ อาทิ สีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อัห์มเดบาด ประเทศอินเดีย เชื่อว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวจะยังคงคึกคักไปถึงสิ้นปี

โดยบริษัทยังคงทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง ในการผลักดันเชิงนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ซึ่งขณะนี้ถูกกำหนดให้กลับไปเป็นอัตราเดิม จนกว่าจะมีการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งเป้าหมายระยะยาวของอุตสาหกรรม อาทิ การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF)

Back to top button