“สภาพัฒน์” หั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.5-3% เซ่นส่งออก Q3 ติดลบ
“สภาพัฒน์” ได้ปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% สาเหตุจากส่งออกไทยช่วงไตรมาส 3/66 หดตัวอย่างต่อเนื่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ซึ่งการปรับลดประมาณการ GDP มีปัจจัยหลักมาจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ของการส่งออกไทย ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยสภาพัฒน์ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เป็น -1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ -1.6%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ ปรับลดลงมาที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคนเท่ากับประมาณการเดิม ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ปรับลดลงมาที่ 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท
โดยยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 66 ได้แก่ 1.เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 3.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 2.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
- การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย
สภาพัฒน์ ยังมองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
- การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก
- การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยต้องเร่งเบิกจ่ายจากงบรายจ่ายเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่เป็นงบผูกพัน ซึ่งมีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท ในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังมีความล่าช้า พร้อมกับเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 รวมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงการต่างๆ ให้สามารถเบิกจ่ายได้โดยเร็ว
- การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ
- Long – term Resident VISA (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีศักยภาพ และการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
- การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต และการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง
- การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวกับการส่งออก, ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง และสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
- การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 – 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง และการแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
“ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เรามองว่า การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดี แต่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ เป็นปัญหาในภาคการส่งออกเป็นหลัก พันมาที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม เราต้องพยายามคงการบริโภคในประเทศให้สร้างบรรยากาศการขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้” นายดนุชา กล่าว
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่งนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า มีเรื่องเดียวคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ส่วนปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการออกมาชุมนุมนั้น เห็นว่ายังมีไม่มากและไม่รุนแรงขยายวงกว้าง ดังนั้นถ้าสามารถทำให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยมากที่สุด ก็จะทำให้นักลงทุนที่ชะลอดูสถานการณ์อยู่นั้น เกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น
“ตอนนี้ นักลงทุนต่างประเทศรอดูสถานการณ์อยู่ว่า การเมืองไทยเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ให้กระทบบรรยากาศการลงทุน” นายดนุชา กล่าว
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 คาดว่าจะเริ่มเห็นการเบิกจ่ายได้ในเดือนเม.ย. 67 ซึ่งหากทุกหน่วยงานได้เตรียมกระบวนการต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว พองบประมาณออกมาก็สามารถเบิกจ่ายได้ทันที อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนได้ เพื่อทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งสำนักงบประมาณจะได้จัดทำหลักเกณฑ์ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณ จะมีเรื่องของการเบิกจ่ายไปพลางก่อน ซึ่งสำนักงบฯ จะต้องทำหลักเกณฑ์ให้ ครม.พิจารณา เช่น การเบิกจ่ายผ่านงบที่ได้ผูกพันไว้แล้ว งบรายจ่ายประจำ แต่ในช่วงนี้ที่สถานการณ์การจัดทำงบประมาณต้องล่าช้าไปกว่าช่วงอื่นๆ คงต้องดูว่าจะมีมาตรการในการใช้งบประมาณไปพลางก่อนในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะทำให้เกิดงบลงทุนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
ส่วนการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปนั้น นายดนุชา มองว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาการบริโภคในประเทศ แต่เป็นเรื่องการส่งออก ดังนั้นต้องเร่งรัดการส่งออกเป็นหลัก การจะมีมาตรการใดๆ ออกมา ต้องคำนึงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการอะไรที่จะเข้ามาช่วยพยุงหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ตรงเป้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะต้องติดตามเศรษฐกิจจีนที่มีความผูกพันกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ตลอดจนปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และการแข่งขันทางการค้าในช่วงถัดไป