เปิดขั้นตอนรับ “ทักษิณ” เข้าเรือนจำ
เปิดขั้นตอนรับ “ทักษิณ” เข้าเรือนจำ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่พ.ศ.2561
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ 22 ส.ค.66 เวลา 11:00 น. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มาให้กำลังใจ หลังก่อนหน้านี้ ช่วงเวลา 10:20 น. ได้เดินทางไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายทักษิณ ขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี ซึ่งศาลได้อ่านสรุปคำพิพากษาใน 3 คดี ต่อหน้านายทักษิณ อันถือเป็นการยืนยันการมาปรากฎตัวต่อหน้าศาล หลังจากนั้นจะออกหมายขัง และให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับตัว เพื่อส่งไปควบคุมที่เรือนจำ หรือสถานกักขังตามคำพิพากษาของศาลต่อไป
สำหรับการนับโทษต่อคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ศาลฎีกาฯ นักการเมืองไม่ได้ให้นับโทษต่อ (คดีที่ 1 = 3 ปี, คดีที่ 2 = 2 ปี นับโทษซ้อนกัน) เเต่ให้นับโทษต่อคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 จึงรวมแล้ว จำคุก 3 คดี เป็นระยะเวลา 8 ปี 3+5
โดยตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่ และผู้ต้องขังเข้าออกเรือนจำ พ.ศ.2561 กำหนดขั้นตอนไว้ดังนี้
ขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่เรือนจำจะดำเนินการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่และสัมภาระ เช่น เสื้อผ้า หรือสิ่งของมีค่า เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อย แหวน พระเครื่อง เป็นต้น
ปกติแล้วเจ้าหน้าที่เรือนจำ จะไม่อนุญาตให้นำสิ่งของผ่านเข้าไปภายในเรือนจำทั้ง ส่วนเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ให้ เพื่อรอญาติติดต่อขอรับกลับไป แต่กรณีที่ผู้ต้องขังแจ้งว่ามีการยื่นขอประกันตัวต่อศาล อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งของศาล เจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ให้ก่อน แต่ต้องไม่เกินระหว่าง 7-15 วัน
ส่วนของมีค่า เจ้าหน้าที่จะรับฝากไว้ โดยจะมีการจดบันทึกรายการว่ามีสิ่งของอะไรบ้าง ผู้ต้องขังฝากไว้เมื่อวันที่เท่าไร เมื่อพ้นโทษก็ติดต่อขอรับกลับ หรือจะให้ญาติติดต่อขอรับ
หลังจากตรวจร่างกายและสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนจัดทำประวัติผู้ต้องขัง โดยเจ้าหน้าที่ต้องระบุประวัติเกี่ยวกับชื่อ นามสกุลของผู้ต้องขัง เลขประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงตัว ข้อหาหรือฐานความผิดของผู้ต้องขัง บันทึกลายนิ้วมือหรือสิ่งแสดงลักษณะเฉพาะของบุคคล และตำหนิรูปพรรณ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ต้องขังถูกต้องตามหมายศาลไม่ผิดตัว รวมถึงประวัติด้านสภาพของร่างกายและจิตใจ ความรู้และความสามารถ และอื่นๆ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ต้องดูว่าผู้ต้องขัง เป็นผู้กระทำความผิดจากคดีประเภทใด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เช่น จำแนกผู้ต้องขังจากคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดียาเสพติด หรือคดีที่กระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ เพื่อวางมาตรการ หรือ เจ้าหน้าที่ผู้คุมเฝ้าจับตากวดขันเข้มงวดเป็นพิเศษ
เมื่อผ่านกระบวนการทำประวัติแล้ว ก็จะไปยังขั้นตอนการตรวจร่างกายเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะดูว่าผู้ต้องขังมีโรคประจำตัว ยารักษาโรค หรือมีใบรับรองแพทย์ ให้ยื่นแสดงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บยาไว้ให้ และจะสอบถามถึงการกินยาว่าแพทย์สั่งให้กินยาอย่างไร
เดิมผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง ต้องเปลื้องผ้าทั้งหมด เพื่อดูว่าไม่ได้นำสิ่งของ วัตถุอันตราย อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร หรือยาเสพติดลักลอบเข้าไปในเรือนจำ แต่ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ร่างกายไว้แล้ว จึงใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจร่างกาย
จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกรายงานเกี่ยวกับบาดแผล หรืออาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังก่อนเข้าเรือนจำ เพื่อใช้ยืนยันว่าผู้ต้องขังมีบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยมาก่อนเข้าข้างในเรือนไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้าย หลังเข้าเรือนจำและผู้ต้องขังจะต้องเซ็นชื่อกำกับการบันทึกดังกล่าวด้วยตัวเอง
สุดท้ายแพทย์หรือพยาบาลจะใช้ดุลพินิจ หากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวร้ายแรงต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องก็อาจจะให้ไปทำการกักโรคโควิด-19 ที่ห้องกักโรคของสถานพยาบาลภายในเรือนจำฯ แทน และเมื่อกักโรคครบกำหนดก็จะแยกผู้ต้องขังไปยังหอผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่อไป
ส่วนการจัดลำดับชั้นนักโทษนั้น จะต้องเป็นกรณีเจ้าตัวเป็นนักโทษคดีเด็ดขาด คือ ศาลมีคำสั่งพิพากษาเรื่องโทษจำคุกเรียบร้อย โดยมีเด็ดขาดชั้นต้น เด็ดขาดชั้นอุทธรณ์ หรือเด็ดขาดชั้นฎีกา
กรณีที่ผู้ต้องขังไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือ เรียกว่าเป็นการต้องโทษครั้งแรก เมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ แล้ว ผู้ต้องขังจะได้รับการจัดลำดับชั้นนักโทษเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ตามกระบวนการแรกรับผู้ต้องขังใหม่ เจ้าหน้าที่เรือนจำจะมีการใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็สามารถส่งผู้ต้องขังเข้าเรือนจำได้ทันที