จับตา 12 หุ้นการเมืองวิ่งคึก รับ “เศรษฐา” ว่าที่นายกคนใหม่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เศรษฐา” โหวตผ่านฉลุยทั้งสส.และสว.รวมกัน 482 เสียง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โบรกฯฟันธงดัชนีวิ่งขึ้นได้อีก หลังถูกการเมืองกดดันร่วม 3 เดือนโบรกแนะหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ดิจิทัล แบงก์ อสังหาฯ เช่น CPAXT, DOHOME, GLOBAL, ADVANC, BE8, SCB, KBANK และกลุ่มอิงการลงทุน คือ WHA, STEC, PTT, AMATA และ GULF
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ส.ค.) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยผลการลงคะแนนมีผู้เห็นชอบ 482 เสียง (สส. 330 เสียง และสว. 152 เสียง) มีผู้ไม่เห็นชอบ 165 เสียง (สส. 152 เสียง และสว. 13 เสียง) งดออกเสียง 81 เสียง (สส. 13 เสียง และสว. 68 เสียง) และไม่แสดงตน 19 เสียง
โดยช่วงเวลา 18.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวสั้น ๆ ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมสส.และสว.ที่ร่วมโหวตวันนี้
“ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ลืมความเหน็ดเหนื่อย ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ไป ต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน หลังจากนั้นจะแถลงข่าวอีกครั้ง
สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน เกิดวันที่ 15 ก.พ. 2505 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ผู้นำการขับเคลื่อนแสนสิริสู่บริษัทชั้นนำในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งนี้ก่อนร่วมงานกับแสนสิริ เคยทำงานกับ Procter & Gamble บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวเร็ว (FMCG)
โดยนายเศรษฐาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซ็ตส์ (University of Massachusetts) และปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจากบัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ (Claremont Graduate School) สหรัฐอเมริกา
รายงานข่าวเปิดเผยว่า การจัดวางตัวบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เริ่มจากพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสุทิน คลังแสง วางตัวที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายจุลพันธุ์ อมรวิวิฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, พล.ต.อ.พัทรวาท วงษ์สุวรรณ (น้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาธรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวราวุธ ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ด้าน นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงการเมืองที่ไม่ชัดเจน ถ่วงตลาดหุ้นไทยมานานกว่า 3 เดือน และ SET เคลื่อนไหว Underperform ตลาดหุ้นอื่น ๆ ของโลกในปีนี้ นับจากต้นปี (YTD) -9% กรณีความชัดเจนเกิด ตลาดจะเปิดอัพไซด์เชิงบวก
ตลาดจะประเมินต่อทีมครม.ชุดใหม่ และทีมเศรษฐกิจว่าจะสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนมาก/น้อยเพียงใด และการขับเคลื่อนนโยบายหลัก ๆ ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย หนุนกลุ่มค้าปลีกอิงกำลังซื้อต่างจังหวัด คือ CPAXT, DOHOME, GLOBAL กลุ่มหุ้นดิจิทัล คือ ADVANC, BE8 กลุ่มธนาคาร คือ SCB, KBANK และอิงการลงทุน เช่น WHA, STEC, PTT, AMATA และ GULF
สำหรับ 2 องค์ประกอบหลักของนโยบาย ส่วนที่ 1 คือ เศรษฐกิจฐานราก+ดิจิทัล (Digital Wallet กระตุ้นบริโภคระยะสั้น, เพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน หนุนระยะกลาง-ยาว ผ่านกลไกเพิ่มทักษะ (Platform สร้างอาชีพ+1 คนที่มีศักยภาพใน 1 ครอบครัว 1 Soft Power บวกกับจัดโครงสร้างธุรกิจเกษตร (ปลูก/เลี้ยง พืช สัตว์ ตรงตามความต้องการโลก นำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน)) และเมื่อ GDP เริ่มตั้งฐานเติบโตได้เป้าหมาย 5+/-% ต่อปี จะตามด้วยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ+เงินเดือนปริญญาตรี
ส่วนที่ 2 คือ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ผลักดันรถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อมระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง, สนามบิน ผสานการเพิ่มพื้นที่นิคมใหม่ ๆ) และการลงทุน (สนับสนุนการลงทุนพื้นที่ใหม่ ๆ และอำนวยความสะดวกลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น ระบบรัฐบาลดิจิทัล ลดขั้นตอนติดต่อ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ผลักดัน S Curve ใหม่ฝั่งดิจิทัลในกลุ่ม SMEs และ Start-up)
เชิงกลยุทธ์คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะตอบรับเชิงบวกต่อพัฒนาการการเมือง โดยยังคงดัชนีเป้าหมายปลายปีนี้ 1,710 จุด+/- โดยมีหุ้นนำตลาด คือ กลุ่มอิงภายในที่ได้ประโยชน์ความชัดเจนการเมืองและนโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างการบริโภคและลงทุนเป็นภาพนำ มองเน้น ธนาคาร SCB ราคาเป้าหมาย 125 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 140 บาท ค้าปลีก CPAXT ราคาเป้าหมาย 38 บาท, DOHOME ราคาเป้าหมาย 12 บาท, GLOBAL ราคาเป้าหมาย 19.5 บาท สื่อสาร ADVANC ราคาเป้าหมาย 264 บาท, TRUE ราคาเป้าหมาย 8.1 บาท, BE8 ราคาเป้าหมาย 74 บาท
กลุ่มรับภาพบวกเร่งลงทุนรัฐบาลใหม่ เช่น นิคม WHA ราคาเป้าหมาย 6 บาท, AMATA ราคาเป้าหมาย 30 บาท รับเหมา STEC ราคาเป้าหมาย 13 บาท, พลังงาน PTT ราคาเป้าหมาย 47.5 บาท และไฟฟ้า GULF ราคาเป้าหมาย 56 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองหุ้นในกลุ่มค้าปลีก, กลุ่มเครื่องดื่ม, กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มกัญชง-กัญชา กลุ่มธนาคาร และกลุ่มโรงไฟฟ้า จะกลับมาคึกคักรับการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และจากกรณีรัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้น
โดยมองหุ้นที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ หุ้นกลุ่มเกี่ยวข้องกัญชา อาทิ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR, บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG, บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL, บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ HFT, บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ
หุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, หุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม อาทิ ICHI, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG
หุ้นกลุ่มก่อสร้าง อาทิ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC, บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) หรือ CGS-CIMB จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่แย่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในรูปของสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของ Bloomberg ดังนั้นคาดรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในประเทศ
โดยมองกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งราคาหุ้นในกลุ่มเหล่านี้จะตอบสนองในเชิงบวก จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว
สำหรับหุ้นที่เลือกเป็นหุ้นเด่น ประกอบด้วย AP, BBL, BH, CK, CPALL, CRC, ERW, ICHI, MINT, PR9, ORI, SCB, STEC และ WHA ขณะที่แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มโทรคมนาคม, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ ยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2566 อยู่ 1,720 จุด แม้ว่าสถานการณ์การเมืองอาจยังมีความไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าทิศทางการเมืองไทยน่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นเซนติเมนต์บวกต่อตลาดหุ้น โดยเป้าหมายดัชนีที่ 1,720 จุด เท่ากับค่า P/E ที่ 17 เท่าในปี 2567 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (ปี 2556-2566)
นอกจากนี้ Downside risk จะมาจากความวุ่นวายทางการเมือง ส่วน Upside risk น่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาลใหม่ และการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มสดใสขึ้น
“แม้ว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจล่าช้า แต่คาดว่ารัฐบาลใหม่จะนำโดยพรรคเพื่อไทย น่าจะเริ่มเข้ามาทำงานได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ มองว่าจะช่วยลดความกังวลของตลาด และมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ น่าจะส่งผลดีต่อเซนติเมนต์ของตลาดหุ้นไทย”