ANAN อัพเดต 5 แนวทางแก้ปม “แอชตัน อโศก”

ANAN แจ้งความคืบหน้า 5 แนวทางการแก้ปัญหาโครงการ “แอชตัน อโศก” เตรียมยื่นขอใบอนุญาตสร้างใหม่-ร้องศาลเปิดแฟ้มพิจารณาคดีใหม่


นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN แจ้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาโครงการ แอชตัน อโศก ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ว่า บริษัทฯ มี 5 แนวทางการแก้ไข ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ได้แก่

โดยแนวทางที่ 1. การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม โดยบริษัทฯ ได้หารือแนวทางการแก้ไขร่วมกับ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) เพื่อดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งระบุว่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารขนาดใหญ่พิเศษจะต้องมีด้านใดด้านหนึ่งยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะฯ ปัจจุบันบริษัทฯ มีแนวทางในการจัดหาที่ดิน โดยได้พิจารณาทั้งการซื้อ การหาที่ดิน หรือการได้รับสิทธิตามกฎหมายในที่ดิน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการหาที่ดินใหม่โดยเร็วที่สุด

ขณะที่ภายหลังการหารือ บริษัทฯ ได้ประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการแก้ไขหรือขอใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ ซึ่งทางบริษัทฯ จะเสนอ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา และอาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เมื่อได้ EIA ฉบับสมบูรณ์แล้ว บริษัทฯ จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่ง สนย. จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ประมาณ 14 วันทำการ

เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ บริษัทฯ จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขทางเข้าออกโครงการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตาม EIA ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 เดือน บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างข้างต้นเรียบร้อย ทาง สนย. จะเข้าตรวจสอบการก่อสร้างของโครงการ และออก ใบรับรองการก่อสร้างฯ (อ.5) ซึ่ง สนย. จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาออก อ.5 ประมาณ 14 วันทำการ

ด้านแนวทางที่ 2. การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.42 มาตรา 75 ที่กำหนดเหตุในการขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ดังนั้น ขณะนี้บริษัทฯ กำลังพิจารณาเหตุในการยื่นคำร้อง ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น กรณีมีความคลาดเคลื่อนในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรับฟังพยานหลักฐานในกระบวนพิจารณาของศาล และ กรณีที่ในอนาคตกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาพิพากษามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

สำหรับแนวทางดังกล่าว ข้างต้นต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบเหตุ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา (วันที่ 27 ก.ค.66)

สำหรับแนวทางที่ 3. ประสานเจ้าของเดิมให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัทฯ อยู่ระหว่างการประสานเจ้าของที่ดินเดิม เพื่อขอคืนที่ดินที่ รฟม. ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินฯ พ.ศ.62 มาตรา 53 และกฎกระทรวงการขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน พ.ศ.64

อีกทั้งแนวทางที่ 4. เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอเรื่องให้รัฐสภาอนุมัติ โดยบริษัทฯ จะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน เพื่อขยายขอบเขตให้หน่วยงานภาครัฐใช้ที่ดินที่เวนคืนภายใต้วัตถุประสงค์ และสามารถใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อื่นอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องเสนอแก้ไขโดย รฟม. ผ่านกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอเรื่องให้รัฐสภาอนุมัติ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย

ขณะเดียวกันบริษัทจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 เพื่อแก้ไขให้เกิดความชัดเจนให้ที่ดินที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ให้สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 เดือน นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย

และสุดท้าย 5. แนวทางช่วยเหลือเรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน บริษัทฯ ได้ประสานงานกับสถาบันการเงินหลักหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อย โดยท่านเจ้าของร่วมสามารถยื่นขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ (Retention) ไปยังสถาบันการเงินที่ท่านขอสินเชื่อ ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง

Back to top button