DMT ยันรายได้ปีนี้โต 30% หลังเปิดเมืองหนุนยอดใช้ “ทางด่วน” พุ่ง

DMT มองผลงานครึ่งปีหลังเติบโตรับนโยบาย “เปิดเมือง” หนุนคนเดินทางเพิ่มขึ้น พร้อมคงเป้าปริมาณจราจรปีนี้แตะ 110,000 คันต่อวัน โต 30% เทียบกับปีก่อน


ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 23 ส.ค.66 ว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้ เติบโตมากกว่า 30% จากปีก่อน โดยครึ่งปีแรกบริษัทฯมีรายได้ค่าผ่านทางแล้ว 1,130.03 ล้านบาท เติบโต 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่  778.34 ล้านบาท พร้อม คาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 คันต่อวัน

ทั้งนี้ บริษัทประเมินแนวโน้มปริมาณจราจรในไตรมาส 3 พบว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตและประกอบกิจการ รวมถึงกิจกรรมการเดินทางหลักในภาคการศึกษายังคงส่งผลให้การเดินทางในช่วงเปิดเทอมสูงขึ้นและในฤดูฝนผู้ใช้ทางเลือกที่จะใช้บริการบนทางยกระดับเพื่อความรวดเร็วหลีกหนีการจราจรแออัดบนถนนทั่วไป

รวมไปถึงนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง และจะทำให้ปริมาณการเดินทางโดยรวมเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินจากสายการบินนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณการเดินทางที่หนาแน่นใกล้เคียงก่อน การระบาดของ COVID-19 อาจจะทำให้มีการพิจารณาให้กลับมาใช้ อาคาร 1 สนามบินดอนเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

ขณะที่การติดตามแผนการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเดินทางด้วยอากาศยานมีแนวโน้มขยายตัวหลังจากนี้ จะส่งผลให้ปริมาณจราจรบนทางยกระดับดอนเมืองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการติดตามปริมาณการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่อยู่ติดกับทางยกระดับดอนเมืองนั้น พบว่ากลุ่มผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นคนละกลุ่มกับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง อีกทั้งการใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงปัจจุบันพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมการเดินทางเชื่อมต่อและเข้าถึงสถานี (Feeder) ยังสูงกว่าการใช้ทางยกระดับ คาดการณ์ว่ายังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง และอยู่ในการติดตามพฤติกรรมการเดินทางโดยรอบทางยกระดับดอนเมืองของบริษัทฯ โดยรถยนต์ยังคงมีความจำเป็นในระบบคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้ง นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการเดินทางด้วยรถยนต์ต่ำลงอีกด้วย

Back to top button