GUNKUL ยื่นไฟลิ่ง GPD ไตรมาส 3 ลุ้นคว้าสัญญาขายไฟเพิ่ม 400 MW
GUNKUL ส่งซิกครึ่งปีหลัง เตรียมยื่นแบบไฟลิ่ง “กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์” เสนอขายไอพีโอภายในไตรมาส 3/66 คาดเข้าจดทะเบียน SET ปี 67 พร้อมคาดหวังจะได้รับกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มอีกราว 400 เมกะวัตต์
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 25 ส.ค.2566 ว่าบริษัทย่อย บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้าง (EPC) อยู่ระหว่างเตรียมยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุนสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ภายในไตรมาส 3/66 โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในครึ่งแรกของปี 67
ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจ EPC มีงานในมือ (Backlog) ราว 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงาน Underground Cable มูลค่า 1,800 ล้านบาท, งานก่อสร้างสายส่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบริษัทเอกชน มูลค่า 1,823 ล้านบาท, งานก่อสร้าง Substation มูลค่า 600 ล้านบาท, Solar Rooftop 600 ล้านบาท และการปรับปรุงสถานีฐาน ระบบควบคุม และป้องกัน มูลค่า 100 ล้านบาท รวมถึงติดตั้งโซลาร์บนเสาสัญญาณของ AIS มูลค่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ราว 5,000 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable) บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้าประมูลขายไฟฟ้าพลังงานทดแทน เฟส 2 ของหน่วยงานภาครัฐที่จะเปิดรับอีก 3,663 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 MW, พลังงานลม 1,000 MW และอื่นๆ อีก 31 MW โดยคาดหวังจะได้รับกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มอีกราว 400 MW หลังจากชนะประมูลในเฟส 1 รวม 17 โครงการ กำลังการผลิตรวม 832.4 MW แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 15 โครงการและพลังงานลม 2 โครงการ
ในส่วนของกำลังการผลิตเฟส 1 ที่ได้รับมา บริษัทคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในช่วงเดือนพ.ย.66 และจะเริ่ม SCOD ในปี 69 จำนวน 177 MW, ปี 71 จำนวน 48 MW, ปี 72 จำนวน 371 MW และปี 73 จำนวน 236 MW ซึ่งจะเข้ามาหนุนการเติบโตให้กับรายได้ของกลุ่ม Renewable ของบริษัทในอนาคต
ส่วนธุรกิจกัญชงและกัญชา บริษัทวางแผนที่จะส่งออก “กัญชาทางการแพทย์” ไปยังประเทศเยอรมนี ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป หลังจากทางรัฐบาลเยอรมนีได้มีการปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษ คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายลูกปลายปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ของประเทศเยอรมัน (CUMCS) และ มาตรฐาน EUGMP เพื่อรองรับกับการส่งออกกัญชาไปตลาดยุโรป
โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการจำหน่าย Tetrahydrocannabinol (THC) และร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (GPO) สกัดสาร THC เพื่อนำไปทำเป็นยารักษาโรค ซึ่งหาก GPO มีการทำกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะส่งช่อดอกกัญชาให้กับ GPO ด้วย