“สภาพัฒน์” เปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือน Q1 พุ่ง 3.36% เฉียด 16 ล้านล้าน
“สภาพัฒน์” เปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือน Q1/66 พุ่ง 3.36% แตะ 15.96 ล้านล้านบาท จับตาสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียพุ่ง 30% ส่วนการเสนอปรับ VAT เป็น 10% จากเดิม 7% ยันเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตราการว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 6.0% และสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.3% 0.5% และ 1.1% ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมการจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 65 ที่ 0.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง
ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 42.7 และ 46.7 ตามลำดับ สำหรับค่าจ้างแรงงาน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน (ปรับตัวดีขึ้น 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 4/65) โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 และ 14,032 บาท/คน/เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน
อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1.การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่าง และจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธ.ค. 65-มิ.ย. 66 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คน มีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง
2.การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาส 2/66 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง
3.ผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำ จะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร
“เรื่องการขาดแคลนแรงงาน ในเวลานี้ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะภาคบริการ แต่ในภาคการผลิตยังไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มอาชีวะ จึงต้องดูมาตรการช่วยแก้ปัญหาในส่วนของภาคบริการ ทั้งนี้ มีสิ่งที่กังวล คือ ตำแหน่งงานว่าง กับคนที่ได้รับการจ้างงานยังไม่สอดคล้องกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องหลักสูตรการสอน หรือจำนวนผู้ที่จบการศึกษาประมาณ 40-50% จบสายบริหาร แต่ตำแหน่งงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นแรงงานสายวิทยาศาสตร์ วิศวะ หรือการผลิต ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่า จะมีการปรับปรุงอย่างไรให้ผู้ที่จบการศึกษาสอดคล้องกับตำแหน่งงานในตลาดได้มากขึ้น” นายดนุชา กล่าว
สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยในไตรมาส 1/66 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของไตรมาสก่อน
“หนี้ครัวเรือนในซีรีส์อดีตที่ผ่านมา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับนิยามของหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยนำหนี้ที่เกิดจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท, หนี้สหกรณ์อื่นๆ 2.5 แสนล้านบาท, หนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์ 1.4 พันล้านบาท รวมเป็นมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ซีรีส์ที่สภาพัฒน์เคยคำนวณไว้ มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-4.5% โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 90.6% ลดลงจากระดับ 91.4% ในไตรมาส 4/65” นายดนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1.หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/66 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ เพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ SML ต่อสินเชื่อรวม ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
2.การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่ เพื่อใช้สอยส่วนตัว 26.1% และเพื่อชำระหนี้สินเดิม 23.1%
3.การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง แม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 65 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 63
“ต้องให้ความสำคัญกับหนี้สหกรณ์มากขึ้น เนื่องจากเหตุผลของการก่อหนี้ กู้มาเพื่อใช้จ่ายส่วนตัว และชำระหนี้เดิม ทำให้ติดกับดักหนี้ และควรให้ความสำคัญกับหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้บัตรเครดิต และหนี้รถยนต์ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนมีความรู้เรื่องการเงินมีความสำคัญ แต่การใช้เงินที่ถูกต้องแย่ลง โดยพบว่าการวางแผนทางการเงินในอนาคตลดลง กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเก็บออมเพื่ออนาคต ก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น ต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณไม่ให้ลำบาก มองว่าต้องเร่งสร้างทัศนคติตั้งแต่วัยแรงงาน” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวออกมาสัปดาห์ที่แล้วว่า สภาพัฒน์เสนอปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 7% เป็น 10% โดยจะนำ 3% ที่ปรับขึ้นบางส่วน ไปจัดสวัสดิการรองรับสังคมผู้สูงอายุนั้น ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ทั้งนี้ มีการพูดคุยกันในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม แต่ในรายละเอียดยังต้องมีการพูดคุยกันอีกมาก
“ข่าวที่ออกมา เกิดจากการที่สำนักงานสภาพัฒน์ มีการจัดสัมมนาในแง่ของสังคมข้ามรุ่น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยประเด็นเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน ยังเป็นแค่แนวคิดหนึ่งที่น่าจะมาพิจารณาดู เพราะแนวคิดนี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้งบประมาณแผ่นดินในการรองรับสวัสดิการของสังคมสูงวัย สภาพัฒน์ยังไม่ได้คิดที่จะเสนอเรื่องนี้กับใคร เป็นไอเดียหนึ่งในงานสัมมนาเท่านั้น เพื่อรับฟังว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ความเห็นของคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ซึ่งอาจมีทางเลือกอื่นๆ ในอนาคต” นายดนุชา กล่าว
สำหรับความเห็นเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว ยังมีออกมาเรื่อย ๆ ต้องดูวิธีการว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ขณะนี้จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เช่นเดียวกับเรื่องงบประมาณ ภาวะการคลัง ต้องมีการพูดคุยกับหลายหน่วยงาน และดูในรายละเอียด ว่าจะสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่
เมื่อถามถึงความกังวลหากมีการแจกเงินดิจิทัล ควบคู่กับนโยบายพักชำระหนี้ จะมีผลต่อหนี้ครัวเรือนหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลในเชิงจิตวิทยา หรือ Moral Hazard ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้ที่ต้องชำระหนี้หรือส่งหนี้ตลอด สามารถส่งหนี้ต่อไปได้ และสามารถช่วยในแง่กำลังการใช้จ่ายด้วย อย่างไรก็ดี ต้องมีการพูดคุยกับหลายหน่วยงาน พิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาต้องดูในแง่ผลกระทบและผลในเชิงบวกด้วย
ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า ไตรมาส 2/66 GDP ออกมาต่ำกว่าที่คาด จึงอาจต้องนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ นายดนุชา กล่าวว่า ตอนแถลงข่าวรายงาน GDP ไตรมาส 2/66 เคยกล่าวว่า GDP ไตรมาส 2/66 โตได้แค่ 1.8% ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักๆ มาจาก 2 เรื่อง คือ
การส่งออกที่หดตัวตั้งแต่ ไตรมาส 4/65 ถึงไตรมาส 2/66 ซึ่งเกี่ยวเนื่องภาคการผลิตในประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลดลง และ 2. เรื่องการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล ที่เงินโอนเพื่อสวัสดิการหายไป เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แล้ว
ดังนั้น เรื่องส่งออกต้องมีการเร่งทำตลาดมากขึ้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาหลายเดือน จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าล้านเหรียญ แต่ในเชิงการขยายตัวไม่ได้ขยายตัวขึ้นมาก เพราะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จะหดตัวลง ซึ่งต้องเร่งดูเรื่องนี้ต่อไป
เมื่อถามว่าวันนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานไปพูดคุย มีสภาพัฒน์ด้วยหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่นายกฯ ใหม่ มีกระบวนการที่ต้องดำเนินการหลายเรื่อง ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย นายกฯ ก็ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการอธิบายหลักการ รูปแบบต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร