SCB EIC ชี้ “ส่งออกไทย” ท้ายปีฟื้น เล็งราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง

SCB EIC เตรียมปรับลดมุมมองมูลค่า “ส่งออก” ไทยปี 66 ลุ้นท้ายปีกลับมาขยายตัวได้จากปัจจัยฐานต่ำ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี เล็งราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีความใกล้เคียงเดือนก่อนที่หดตัว 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรวมมูลค่าส่งออก 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือหดตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าหดตัวทุกกลุ่ม ซึ่งภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน ก.ค. หดตัวต่อเนื่องทุกกลุ่ม โดย (1) สินค้าเกษตรหดตัว 7.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวรุนแรงขึ้นจาก 7.4% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกยางพาราหดตัวต่อเนื่อง 12 เดือนที่ 37.8% ขณะที่ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัวได้ดีต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกันที่ 14.2% (เดือน มิ.ย.) และ 5.3% (เดือน ก.ค.) หลังจากหดตัวแรงในเดือน พ.ค. ตามผลผลิตจากภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การส่งออกข้าวสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ 18.8% ในเดือนนี้หลังจากเดือนก่อนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

(2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 11.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัว 10.2% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกน้ำตาลทรายหดตัวมากถึง 30.3% หลังจากขยายตัวสูงสองเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์หดตัวมากถึง 62.7% หดตัวสูงต่อเนื่องจากสองเดือนก่อน

(3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 8 เดือนในเดือน พ.ค. ตามการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่หดตัว 31.8% ต่อเนื่อง 10 เดือน อย่างไรก็ดี หากหักผลของการส่งออกทอง อาวุธ และอากาศยาน ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาพการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง พบว่าสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมหดตัวเพียง 1.3% ใกล้เคียงเดือนก่อน

ขณะที่ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวรุนแรง 35.7% จากช่วงเดียวกับปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจาก 25.5% ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว 38%

อีกทั้ง ภาพรวมตลาดส่งออกหลักยังผันผวนสูง การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านยังน่าห่วง ซึ่งการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ยังผันผวนสูง โดย (1) ตลาดจีนพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากขยายตัวได้ 4.5% ในเดือนก่อน จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่หดตัวแรงขึ้น (36.1%) และเม็ดพลาสติก (-14%) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-29.6%) ที่หดตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไปยังตลาดจีนที่สำคัญที่สุดจะยังสามารถขยายตัวได้ที่ 6.7%

(2) ตลาด ASEAN5 หดตัวรุนแรง -18.3% และ CLMV หดตัวต่อเนื่อง 26.5% โดยสินค้าส่งออกสำคัญในตลาด ASEAN หดตัวถึง 8 กลุ่มสินค้าจากทั้งหมด 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าสำคัญเพียง 2 กลุ่มที่ขยายตัวได้ (3) ตลาดอื่นที่สามารถขยายตัวได้ในเดือนนี้ อาทิ ฮ่องกง (9.6%) ตะวันออกกลาง (8.5%) ออสเตรเลีย (2.7%) และสหรัฐฯ (0.9%)

นอกจากนี้ ดุลการค้ากลับมาขาดดุลอีกครั้ง แม้มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวรุนแรง มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 24,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -11.1% รุนแรงขึ้นจาก -10.3% ในเดือนก่อน หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง มูลค่าการนำเข้าหดตัว -7.8% หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนที่ -11.4% หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-24.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, CTG -11.1%) สินค้าเชื้อเพลิง (-27.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน, CTG -5.7%) หดตัวต่อเนื่อง การนำเข้าสินค้าทุน (5.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน, CTG 1.2%) และสินค้าอุปโภคบริโภค (6.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน, CTG 0.6%) พลิกกลับมาขยายตัว

ขณะที่มูลค่านำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือนที่ 93%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ CTG 3.2% ทั้งนี้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาขาดดุลอีกครั้งที่ -1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเกินดุลเล็กน้อยที่ 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน ดุลการค้าในระบบศุลกากรในช่วง 7 เดือนแรกของปี 66 ขาดดุลทั้งสิ้น -8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไทยในระยะต่อไปยังน่าห่วงและอาจแย่กว่าคาดจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลง แม้ SCB EIC มองการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 66 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นที่ 2.4% (เดิม 2.1%) ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ  และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มดีกว่าคาด แต่ยังเป็นการขยายตัวในระดับต่ำเทียบกับปีก่อน อีกทั้ง เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้าจะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำสำคัญของการส่งออกไทยในระยะต่อไป โดยดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือน ส.ค.

ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวต่อเนื่อง นำโดย Eurozone Manufacturing PMI ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 43.7 UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 42.5 (45.3 ในเดือน ก.ค.) ขณะที่ US Manufacturing PMI หดตัวรุนแรงขึ้นที่ระดับ 47.0 (49.0 ในเดือน ก.ค.)

ส่วนเศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวลดลงทั้งภาคการผลิตและบริการ ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่จากการผิดนัดชำระเงินของบริษัทอสังหาฯ และบริษัทการเงินขนาดใหญ่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน และคาดว่าจะกดดันการฟื้นตัวของส่งออกไทยในหลายกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไทยที่พึ่งพาตลาดจีนสูงและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่จีนส่งออก เช่น ยางพารา ไม้ยางพารา ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่มีอยู่สูง SCB EIC ยังมองการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปีจะสามารถกลับมาขยายตัวได้จากปัจจัยฐานต่ำ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี เพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ข้าว จากนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียและปัญหาสภาพอากาศที่คาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของโลกปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิดและจะเผยแพร่การประมาณการใหม่ในเดือน ก.ย. นี้

Back to top button