เปิดคำแถลงนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-แก้ปากท้องประชาชน

เปิดคำแถลงนโยบายรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ต่อรัฐสภา 11 ก.ย. วางกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศ เร่งด่วน ระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สร้างโอกาส ลดเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (5 ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่า สวัสดีครับพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน วันนี้ผมได้นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผมและคณะรัฐมนตรีจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนดว่า ครม.ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ หรือหลังจากวันถวายสัตย์ฯ

ต่อมามีรายงานว่านายกรัฐมนตรีเตรียมถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย.2566 นี้ เพื่อให้ทราบถึงเจตนารมย์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน โดยมีสาระสำคัญ ในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่

กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจําเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วน และรวดเร็ว

กรอบระยะกลาง และระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน

นโยบายรัฐบาล 1 กระตุ้น

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ในร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียน กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่

นโยบายรัฐบาล 3 เร่ง

1. นโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลยังคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน

2. นโยบายเร่งลดหนี้ประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เพื่อลดภาระเกษตรกรในการชำระหนี้จากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ 3 ปี และพักหนี้ธุรกิจที่เกิดร้อนจากโควิด 1 ปี รวมทั้งสนับสนุน Pico Finance เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

3. นโยบายเร่งลดราคาพลังงาน ลดค่าครองชีพประชาชน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน อีกทั้งยังช่วยค่าครองชีพอื่นๆเพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค

นโยบายรัฐบาล 3 สร้าง

1.นโยบายสร้างรายได้ อาทิ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการขับเคลื่อนท่องเที่ยวในทุกมิติ อาทิ ฟรีวีซ่า, การบริหารจัดการ (Operations)ของสนามบินเอง, การจัดการเที่ยวบิน (Flight), การลำเลียงกระเป๋า และกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567

ขณะเดียวกันก็จะเร่งการสร้างรายได้จากการค้าการลงทุน ด้วยการใช้นโยบาย “การต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ” ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทย เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้ได้มาซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก

นอกจากยังมีนโยบายเพิ่มรายได้เกษตรกร และราคาสินค้าเกษตร ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร แปรรูป ลดต้นทุน ปรับวิธีการผลิต ใช้ตลาดนำการผลิต ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง มาเป็นการปลูกพืชเพื่อการปศุสัตว์ หรือพืชเพื่อการเลี้ยงสัตว์ แทนการนำข้าจากต่างประเทศ ควบคู่กับการการสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่นการเลี้ยงโคเพื่อส่งออก รวมไปถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท

2.นโยบายสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การแจกโฉนดที่ดินให้แก่เกษตรกร แก้กฎหมายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและเปลี่ยนมือได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าหาแหล่งทุนของเกษตรกร

ส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้น เพื่อเป็นคาร์บอนด์เครดิต นโยบายส่งเสริม SME ด้วยการสนับสนุนและอุดหนุนภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ลดการผูกขาดทางธุรกิจอันเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของ SME

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ 30 บาท ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น รวมทั้งจะเร่งผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนได้บริการที่ดีขึ้น ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา

3.นโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยการจัดกลุ่มผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ต้องดูแลรักษา ฟื้นฟูให้มีอาชีพกลับเข้าไปทำงานให้ได้ แต่จะจัดการกับผู้ค้า ผู้ผลิต ด้วยการนำกฎหมายยึดทรัพย์มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งยาเสพติด รวมถึงนโยบายแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

นอกจากนี้ยังมีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ภายใต้หลักปรัชญา “เรียนรู้เพื่อรายได้” ด้วยการปรับหลักสูตรต่างๆที่สอดคล้องกับการสร้างรายได้ สร้างกลไกพิเศษให้ภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน ควบคู่กับการผลักดันนโยบาย soft power ในด้านต่างๆ

 

Back to top button