PTT-BANPU ท็อปพิก! รับเทรนด์ธุรกิจ “ดักจับคาร์บอนฯ”
โบรกมองธุรกิจดักจับคาร์บอน (CSS) หวังรัฐบาลไทยหนุน มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ชู BANPU และ PTTEP กำลังเดินหน้าโครงการผลิตก๊าซแหล่งอาทิตย์
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ประเมินเกี่ยวกับการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน หรือ “CCS” เป็นเทคโนโลยีที่ดักจับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเก็บไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัย โดย CCS สามารถดักจับ CO2 จากแหล่งปล่อยก๊าซที่มีความเข้มข้นหรือจากอากาศโดยตรงได้
ขณะเดียวกัน การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์หรือ “CCU” หมายถึงเทคโนโลยีที่ดักจับ CO2 แล้วแปลงเป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น เคมีสังเคราะห์ เมทานอล และคอนกรีต เป็นต้น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นต่อไป
โดยเป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นที่จะมีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วและสามารถพัฒนาได้ทั้งในระดับเชิงพาณิชย์หรือโครงการนำร่อง เช่น โครงการ Sleipner CCS ในนอร์เวย์ และโครงการสาธิต Tomakomai CCS ในญี่ปุ่น โดยขณะนี้มี CCS อยู่ 29 แห่งทั่วโลก โดยมีความสามารถในการดักจับ CO2 รวม 40 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ ต้นทุนการปล่อย CO2 เช่น ภาษีคาร์บอน มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นปัจจัยหลักในการนำเทคโนโลยีเข้าสู่เชิงพาณิชย์
สำหรับปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญ ของ CCS หากเน้นไปที่ CCS มี 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การดักจับ CO2 – มีวิธีการดักจับที่ได้รับการพิสูจน์แล้วหลายวิธีโดยอิงตามแหล่งการปล่อยก๊าซ 2) การขนส่ง-ทางท่อหรือทางเรือ 3) การอัดกลับและการจัดเก็บ- จัดเก็บในชั้นหินใต้ดินที่สามารถจัดเก็บได้อย่างปลอดภัยและถาวร เช่น ชั้นกักเก็บน้ำเกลือและชั้นกักเก็บน้ำมันและก๊าซ และ 4) การประเมินผลตรวจวัด และตรวจสอบ (MMV) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใดที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในขั้นตอนทั้ง 4 นี้จะมีความได้เปรียบในการเข้าสู่ธุรกิจ CCS
โดยรัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 โดยจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยไม่ใช้เทคโนโลยี CCS ทั้งนี้ หากอิงตามการคาดการณ์ของหน่วยงานรัฐบาลไทยจำเป็นต้องมี CCS ที่ 60 ล้านตันต่อปีภายในปี 2608
ขณะเดียวกัน Global CCS Institute ระบุว่าอ่าวไทยและพื้นที่บางส่วนของประเทศดูเหมือนจะมีความเหมาะสมสำหรับการจัดเก็บ CO2 แต่ยังคงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนา
สำหรับธุรกิจ CCS มีผู้ประกอบการไทย 2 รายที่พัฒนาธุรกิจนี้อย่างจริงจังที่โครงการผลิตก๊าซของบริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU โดย PTTEP กำลังพัฒนา CCS ที่โครงการผลิตก๊าซแหล่งอาทิตย์ โดยมีกำลังการกักเก็บคาร์บอนที่ 1 ล้านตันต่อปี โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2569-2570
ขณะเดียวกัน BANPU มีโครงการ CCS จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Barnett Zero และ Cotton Cove ในสหรัฐอเมริกา โดยมีกำลังการกักเก็บคาร์บอนรวม 0.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
โดยคงมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มพลังงาน ทางฝ่ายนักวิเคราะห์คิดว่าธุรกิจ CCS จะทำให้เกิด upside ในระยะสั้นต่อ BANPU เนื่องจากโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3-15 เดือน และมีแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจนคือจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ CCS ของ PTTEP ยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากรูปแบบธุรกิจและแหล่งที่มาของรายได้ยังไม่ชัดเจน แต่โครงการจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อทำให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้