เปิดหุ้นน้องใหม่ “ไอพีโอ” จ่อเข้าตลาด SET-mai ลุ้นระทึก GFC-COCOCO เทรดเดือนนี้!

เปิดหุ้นน้องใหม่ “ไอพีโอ” จ่อเข้าตลาด SET-mai ลุ้นระทึก GFC-COCOCO ลุยสนามเทรดเดือนนี้ ระดมทุนกว่า 2 พันล้านบาท


เมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้กล่าวในงานสัมมนา KAsset Investment Forum : ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024 ซึ่งจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ถึงมุมมองที่มีต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย และแนวโน้มบริษัทที่จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) ในช่วงที่เหลือของปี 2566

สำหรับมุมมองที่มีต่อภาพใหญ่ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากในช่วงที่ผ่าน ๆ มา โดยมีการฟื้นตัวแบบ K-Shaped เครื่องยนต์ขับเคลื่อนภาคส่งออกไม่ค่อยดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ ทำให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นการลงทุนจึงต้องเลือกเป็นรายกลุ่ม

โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโตต่ำกว่า 3% เกือบทุกปี แต่กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังคงสามารถทำกำไรได้ดี เนื่องจากบจ.หลายแห่งไม่ได้ทำธุรกิจภายในประเทศอย่างเดียว แต่มีรายได้จากต่างประเทศด้วย บจ.มีกำไรจากต่างประเทศเฉลี่ยเกือบ 40% หรือในบางบริษัทมีกำไรจากต่างประเทศมากกว่า 50% เช่น กลุ่มการเกษตรและอาหารมีกำไรจากต่างประเทศถึง 81% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 53% และบจ.ที่ทำธุรกิจบริหารได้ดีในเรื่องของความยั่งยืน (sustainability) เป็นกลุ่มที่มีผลประกอบค่อนข้างดีมาก สะท้อนว่าการลงทุนในบริษัทที่มีการบริหารด้านความยั่งยืนที่ดีจะได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย

ส่วนโมเมนตัมหุ้น IPO นั้น จะเป็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่เข้ามาระดมทุน โดยไม่มีบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งภาพรวม 8 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทที่ขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในทั้ง 2 ตลาดแล้ว 22 บริษัท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 20,544 ล้านบาท (ณ 25 สิงหาคม 2566) หรือมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ในปี 2565 ตลาดหุ้นไทยรั้งอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุดในภูมิภาค มีมูลค่ากว่า 3,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทเสนอขายหุ้น IPO จำนวนมากถึง 42 บริษัท ขณะที่ในปี 2564 มีมูลค่าการระดมทุน 4,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้นใหม่ 41 บริษัท

ก่อนหน้านี้ตลาดทุนไทยจะมีการระดมทุน 2 หุ้น IPO ขนาดใหญ่ ซึ่งได้พับแผนไปแล้ว คือการ Spin-off บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ออกจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และบริษัทบิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ออกจากบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ประกาศเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม

โดย SCC มองว่าการขาย IPO หุ้น SCGC ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม คำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ความพร้อมของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่จะรองรับ IPO ขนาดใหญ่จากบริษัทไทย รวมถึงสถานการณ์ภายนอก เช่น ด้านเศรษฐกิจและวิกฤตราคาพลังงาน

ขณะที่ BJC ชะลอแผนเสนอขาย IPO หุ้น BRC เพราะสถานการณ์ตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความผันผวนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ดังนั้นการระดมทุนด้วยไซส์ IPO ขนาดใหญ่ อาจไม่ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET), ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดกลาง-เล็กไม่น้อยกว่า 52 แห่ง ที่จ่อคิวขายหุ้น IPO และเตรียมเข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง

โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2566 จะมีอย่างน้อย 2 บริษัทที่จะเข้ามาเทรดวันแรก เช่น บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC ผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยในไทย ที่ขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น ราคา 7 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนราว 420 ล้านบาท โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ตามแผนที่วางไว้คือวันที่ 13 กันยายนนี้ และบริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO ผู้ผลิต จำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวรายใหญ่ของไทย ขายหุ้น IPO จำนวน 370 ล้านหุ้น ราคาจอง 5.50 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนราว 2 พันล้านบาทโดยมีบริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่จะเทรดวันแรกภายในเดือนนี้เช่นกัน

ส่วนบริษัทที่ยังไม่กำหนดวันเทรดบางแห่งอยู่ระหว่างรออนุมัติไฟลิ่ง เช่น บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เป็นผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถขายหุ้น IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์, บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลด้านคลินิกเวชกรรม ภายใต้ชื่อ “ธีรพรคลินิก” ขายหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์,บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ผู้นำอุตสาหกรรมผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มงานปราศจากเชื้อในประเทศไทย ขายหุ้น IPO จำนวน 181 ล้านหุ้นโดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่, 

บริษัทสิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ DevOps Culture เป็นแนวคิดที่ช่วยพัฒนาและดูแลลูกค้าในรูปแบบสมัยใหม่ ขายหุ้น IPO จำนวน 40 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่,บริษัทสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ผู้ให้บริการด้านวิทยุการบินของกัมพูชาเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา ขายหุ้น IPO จำนวน 224 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน,

บริษัท ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SINO ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างครบวงจร ขายหุ้น IPO จำนวน 292 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI ผู้นำธุรกิจตัวแทนขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าทางสายการบิน ขายหุ้น IPO จำนวน 554 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

อย่างไรก็ตามแนวโน้ม IPO ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงคึกคัก แต่หุ้นใหม่ที่เข้ามาซื้อขายจะเป็นบริษัทกลาง-เล็กเป็นหลัก

Back to top button