เปิดโผ 19 หุ้น รับประโยชน์ “บาทอ่อน” รอบ 10 เดือน
เงินบาทอ่อนค่าหนักทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 10 เดือน หุ้นส่งออกรับประโยชน์ ได้แก่ CPF, TU, ITC , KCE, HANA, SUN, ASIAN, GFPT, STA, NER, SMPC, MEGA, EPG, SCC, TPIPL, TASCO, STP, BJCHI และ VNG
วานนี้ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าหนักทะลุมาแตะ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ ทำจุดสูงสุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ สะท้อนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วยแรงกดดันตามมานั้นเอง
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากเงินบาทอ่อนค่ารวดเร็วทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์นั้น เกิดจากแรงกระตุ้นเงินเฟ้อ โดยจากฝั่งดีมานด์ด้วยความหวังเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวรวมถึงฝั่ง Supply จากความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ บวกกับราคาพลังงานที่ยังเห็นปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมัน Brent อยู่เหนือ 94 เหรียญฯต่อบาเรล ซึ่งเพิ่มขึ้น 9% จากเดือนก่อนหน้าถึงปัจจุบัน และเพิ่มขึ้น 10% จากต้นปีถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคอาจมี Momentum ขยับขึ้นต่อไปถึง 100 เหรียญฯต่อบาเรล
นอกจากนี้ ความเสี่ยงค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจากผลต่างระหว่าง Bond Yield 1 ปีไทย (2.4%) กับสหรัฐ (5.42%) โดยมี Gap ที่กว่างขึ้นเป็น 302 bps. รวมถึงยังมีความกังวลว่า “ฟิทช์ เรทติ้ง” จะปรับอันดับความน่าเชื่อถือไทยลง (ปัจจุบันอยู่ระดับ BBB+) หากฐานะทางการคลังในบ้านเราอ่อนแอจากผลของนโยบายรัฐบาลใหม่ที่อาจทำหนี้พุ่ง ถือเป็นความเสี่ยงต่อ Fund Flow และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง
ส่วนกลยุทธ์ระยะสั้นเน้นหุ้นได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่า แนะนำหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU
ขณะที่บล.เมย์แบงก์ ระบุว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 10 เดือนอยู่ที่บริเวณ 36 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าส่งผลบวกต่อทิศทางผลประกอบการของ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 เนื่องจากธุรกิจเป็น Net Exporter โดยอิงรายได้ต่างประเทศปี 2565 คิดเป็น 96% ของรายได้รวม
ขณะเดียวกันการรายงานยอดส่งออกอาหารสุนัขและแมวเดือน ก.ค. 2566 ที่ขยายตัวทำจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนถึงลูกค้าที่เริ่มกลับมาสต๊อคสินค้า และการรายงานส่งออกเดือน ส.ค (ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้) หากทิศทางเพิ่มขึ้นต่อจะเป็น Sentiment บวกต่อราคาหุ้นเช่นกัน
โดยราคาหุ้นปรับลง 28% จากต้นปีถึงปัจจุบัน สะท้อนความผิดหวังงบครึ่งแรกปี 2566 ไปมากแล้ว ขณะที่ผลประกอบการครึ่งหลังปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวตามการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล
นอกจากนี้หากย้อนดูข้อมูลเก่าๆ ในช่วงที่ผ่านมาหากเงินบาทอ่อนค่ามักจะเห็นหุ้นดังกล่าวปรับตัวขึ้น และทางนักวิเคราะห์มักหยิบยกมาให้เป็นตัวเลือกสำหรับการลงทุน เพราะล้วนได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น เช่น สำหรับหุ้นหรืออุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก “ค่าเงินบาทอ่อนค่า”
กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่าง บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เพิ่มขึ้น 6% และ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เพิ่มขึ้น 5%
กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เพิ่มขึ้น 8%, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เพิ่มขึ้น 3%, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เพิ่มขึ้น 5%, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เพิ่มขึ้น 5%, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เพิ่มขึ้น 2%
กลุ่มเกษตร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เพิ่มขึ้น 6%, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เพิ่มขึ้น 3%, และ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เพิ่มขึ้น 2%
อุตสาหกรรมอื่นที่ได้ผลกระทบเชิงบวกจากค่าเงินบาทอ่อน เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ประเมินทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 8-10% ,บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ประเมินทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 8% และบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ประเมินทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 3%-4%
สำหรับกลุ่มผู้รับเหมาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC เนื่องจากธุรกิจเคมิคอลส์ ทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์จึงได้ประโยชน์ โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL เนื่องจากมีรายได้จากการส่งออก 35% ของรายได้รวม โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี
บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO เนื่องจากนำเข้าวัตถุดิบเป็นสกุลเงินดอลลาร์ทั้งหมด โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 33 ล้านบาท/ปี
บริษัท สหไทยการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ STP เนื่องจากมีเงินฝากสกุลเงินดอลลาร์ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 30 ล้านบาท/ปี
บริษัท บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ BJCHI เนื่องจากมีสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 50 ล้านบาท/ปี
บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG เนื่องจากมีรายได้จากการส่งออกสัดส่วน 80% โดยเงินบาทอ่อนค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับเพิ่ม 48 ล้านบาท/ปี