สธ. ชี้สัปดาห์เดียว “ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่” ทะลุหมื่นล้านราย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ. เผยสัปดาห์เดียวช่วงวันที่10-16 ก.ย. 66 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย สูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดียวกันของปี 65 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากประเทศไทย ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 ประชาชนเลือกสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ พบว่า แนวโน้มของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าการสวมหน้ากากอนามัย สามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้จะพบผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 ก.ย. 66 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตาย 0.002%
ขณะที่สัปดาห์เดียว ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มหมื่นกว่าราย โดยเฉพาะในช่วงเฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 ก.ย. มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดียวกันของปี 65 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง อย่างไรก็ดี ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เตรียมพร้อมทีมสอบสวนควบคุมโรคเพื่อรองรับการระบาดแล้ว
โดยขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งโรคหลักๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง มีดังนี้ 1. โรคโควิด-19 อาการมักมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีหายใจลำบาก 2. โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร และ 3. โรค RSV จะมีไข้ ไอจาม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การติดต่อของทั้ง 3 โรคเหมือนกัน คือ การไอ จาม สัมผัสละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการป่วยของโรคทางเดินหายใจ หรือเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ต้องสวมหน้ากากอนามัย ปิดปาก และจมูกให้มิดชิดเมื่อไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจเหล่านี้
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ดูแลสังเกตอาการบุตรหลานที่เป็นเด็กนักเรียน หากเด็กป่วยมีอาการทางเดินหายใจ แนะนำให้หยุดพักอยู่บ้านเพื่อดูแลรักษา ติดตามอาการ และไม่ไปแพร่เชื้อต่อที่โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียน ขอให้จัดระบบการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เพื่อแยกเด็กไม่ปะปนกับเด็กอื่นๆ และพิจารณาปิดห้องเรียน เมื่อพบเด็กป่วยหลายๆ รายติดต่อกัน