“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือโต 3% เซ่นส่งออกหดตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลด GDP ไทยปี 66 เหลือโต 3% จากเดิมที่ 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นหลังจากประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ส่งออกหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่หดตัว 1%
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้นจีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะ -2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1%
นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย.นี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%
สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้และจะดำเนินการเพิ่มเติม โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567
ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะสั้นมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป
ส่วนในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กับมาตรการ Quick Win ที่กำลังดำเนินการอยู่