จังหวะเก็บ ECF-ILM-CHIC รับเทรนด์ “ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์” มาแรง ส่งออกติดอันดับ 25 ของโลก
จังหวะเก็บ ECF-ILM-CHIC รับเทรนด์ “ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์” มาแรง ปี 65 ยอดผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศแตะ 1.67 แสนล้านบาท ขณะที่ชาวต่างชาติชื่นชอบความประณีต ดันยอดส่งออกทะยาน 8.12 หมื่นล้านบาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ธุรกิจ “เฟอร์นิเจอร์” เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากภาคการบริการและท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น
รวมถึงความต้องการที่พักอาศัยและบ้านหลังที่ 2 เพื่อรองรับการทำงานแบบ hybrid workplace สำหรับชาวไทยรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทย
ขณะที่ นโยบายภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคที่มียอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดชลบุรีและระยองที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเข้ามาขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการจ้างงาน จังหวัดภูเก็ตเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้ออาคารเพื่อลงทุน เป็นต้น โดยภาพรวมหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2565 ปรับขึ้น 14.3% อยู่ที่ 392,858 หน่วย รวมถึงการสร้างและขยายธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2563 ธุรกิจมีรายได้รวม 151,533.16 ล้านบาท ผลกำไร 3,203.34 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 164,844.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,311.13 ล้านบาท หรือ 8.79%) กำไร 2,928.07 ล้านบาท (ลดลง 275.27 ล้านบาท หรือ 8.60%) ปี 2565 รายได้ 166,576.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,731.94 ล้านบาท หรือ 1.05%) กำไร 4,563.82 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,635.75 ล้านบาท หรือ 55.87%)
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในปี 2563 -2565 รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้เฉลี่ยปีละกว่า 160,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นแต่นับว่ามูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาผลประกอบการด้านกำไรในปี 2563-2565 มีความผันผวนบ้าง โดยในปี 2564 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อย
สำหรับภาพรวมการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับที่ 25 ของโลก โดยไทยมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบในประเทศ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น แรงงานที่มีความประณีตและเชี่ยวชาญ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยโดยรวมยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มียอดส่งออกรวม 81,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5% ตลาดหลัก 5 อันดับแรก
ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในประเทศแถบเอเชียและในกลุ่มอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยหากรวมมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลกแล้ว ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.7% ซึ่งยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดส่งออกได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆ ของตลาดโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดกระแส
“เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องระยะยาว” นายทศพล กล่าว
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการรวบรวมหุ้นที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) หรือ CHIC, บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM
ด้าน นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ CHIC เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2566 คาดเติบโตโดดเด่นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน อีกทั้งทิศทางการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ ทั้งแนวสูง-แนวราบ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ระดับไฮเอ็นด์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หนุนความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้านสูงขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทเดินหน้าขยายฐานลูกค้าธุรกิจงานโครงการ อาทิ โรงพยาบาล โรงแรม บริษัทออกแบบตกแต่งภายใน ที่มีความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งอีกมาก อีกทั้ง สร้างโอกาสเข้ารับงานให้ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายในครบวงจร “Chic Design Studio” รวมถึง ยังคงเข้าประมูลงานโครงการอสังหาฯ แนวราบ-แนวสูงเข้ามาเพิ่มเติม สร้างยอดขายและโอกาสทำกำไรให้มากขึ้น
สำหรับธุรกิจการให้บริการพื้นที่เช่า บริษัทเดินหน้าตามแผน เร่งเข้าดำเนินการปรับปรุงขยายเพิ่มพื้นที่เช่าสาขาบางนา คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/66 ขณะที่สาขาราชพฤกษ์ปรับปรุงแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการร้านค้าใหม่ ถือเป็นการสร้างรายได้ประจำเพิ่มขึ้น หนุนรายได้โตตามเป้าหมายที่ 20-25%
ด้าน นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ส่งผลให้มีปริมาณออเดอร์ทั้งในประเทศและส่งออกเฟอร์นิเจอร์เริ่มมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง บริษัทมุ่งเน้นขยายตลาดและช่องทางการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศมีสัญญาณการเติบโตที่ดี ปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจและความท้าทายใหม่ของบริษัท ในการมุ่งเน้นกลยุทธ์พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ให้มีความโดดเด่นด้านดีไซน์ ฟังก์ชั่นการใช้งาน พร้อมเพิ่มไลน์สินค้าตกแต่งบ้าน เพื่อขยายฐานลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าแบบครบวงจร
ส่วนตลาดต่างประเทศ ยอดขายมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น กลุ่มลูกค้าต่างประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทปรับปรุงไลน์การผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามบริษัทคาดการณ์ว่า ทิศทางรายได้จากการส่งออกและการจำหน่ายในต่างประเทศจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้
ขณะที่ ILM มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยบทวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 30 บาท หลังมองยอดขายเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอานิสงค์ทางอ้อมจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรมและคอนโดรีโนเวทห้องใหม่รับนักท่องเที่ยวกลับมา
อีกทั้งบริษัทมีการปรับกลยุทธ์ทำให้ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น ประเมินรายได้โตและ GPM ก็ปรับตัวดี ด้านแวลูเอชั่นก็ถูกกว่ากลุ่ม มองดูดีมีอัพไซด์ และแผนธุรกิจในอนาคตที่น่าสนใจ