TPCH ครึ่งปีหลังโตรับ 13 โรงไฟฟ้า “COD” ลุยขยายกำลังผลิตแตะเป้า 500 MW

TPCH มั่นใจครึ่งปีหลังสดใส เดินเครื่องซีโอดี 13 โรงไฟฟ้ากำลังผลิต 122 MW ไฟเขียวขายหุ้นบริษัทย่อยมูลค่า 1.2 พันล้านบาท นำเงินต่อยอดโซลาร์ฟาร์ม-วินด์ฟาร์ม “สปป.ลาว-กัมพูชา” ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิต 500 MW ภายในปี 69


นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 66 ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและประเภทเชื้อเพลิงขยะ ทั้ง 13 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 122.30 เมกะวัตต์ (MW) สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต

สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG, TPCH 5, TPCH 1, TPCH 2, PBB และ PBM รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP)

นางกนกทิพย์ กล่าว บริษัทฯ มั่นใจว่า ในครึ่งปีหลังของปีนี้ ผลประกอบการน่าจะเติบโตในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพราะโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วทั้ง 13 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี (PTG) และ โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) พร้อมทั้ง ได้มีการปรับจูนเครื่องของโรงไฟฟ้าเพื่อให้มีความเสถียรมากขึ้น

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้จําหน่ายหุ้นที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัทย่อย ประกอบด้วย บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จํากัด หรือ TPCH 1 จำนวน 25,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.23 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 1, บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จํากัด หรือ TPCH 2 จำนวน 25,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.23 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 2

รวมทั้ง บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จํากัด หรือ TPCH 5 จำนวน 19,799,996 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.00 ของทุนจดทะเบียนของ TPCH 5 และ บริษัท อีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จํากัด หรือ ECO จำนวน 63,375,434 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 99.90 ของจำนวนทุนจดทะเบียนของ ECO ในราคาไม่น้อยกว่า 1.2 พันล้านบาท ให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้า โดยกําหนดให้ผู้จะซื้อจะต้องรับไปทั้งภาระหนี้ของกลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้า ได้แก่ หนี้ที่มีอยู่กับธนาคาร

โดยผลประโยชน์ที่คาดว่าบริษัทฯ จะได้รับ และแผนการใช้เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหุ้น เพื่อไปใช้ลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงโอกาสในการเข้าลงทุนในกิจการอื่นๆ ตามนโยบายการลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งสามารถสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทฯ หรือธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และเป็นธุรกิจที่จะสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

“การจำหน่ายหุ้นของบริษัทย่อยกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง TPCH 1, TPCH 2, TPCH 5 และ ECO เพื่อนำเงินที่ได้มาลงทุนในโรงไฟฟ้าอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือกิจการที่สนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทฯ ซึ่งจะทำให้มีผลประกอบการเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนของบริษัทฯ” นางกนกทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้แผนการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ จะเป็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ ประมาณ 7 โครงการ ภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปีนี้ ประมาณ 1 โครงการ

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า แผนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ กำลังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภท พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจาก TPCH ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด หรือ MKP ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว

อีกทั้ง MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่ COD ปัจจุบันได้เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ภายในไตรมาส 4/66

ขณะเดียวกัน การลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์ และ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 69 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 90 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 340 เมกะวัตต์

Back to top button