6 หุ้นแบงก์วิ่ง! รับ “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% มีผลทันที

6 หุ้นแบงก์วิ่ง! ขานรับกนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ด้านโบรกมองบวกต่อกลุ่มธนาคาร และบัตรเครดิต SCB-KBANK-BBL นำทีมบวกคึก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ก.ย.66) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์บวกคึก ขานรับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนำโดย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้น ณ เวลา 15:56 น.อยู่ที่ระดับ 103.00 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 0.98% สูงสุดที่ระดับ 103.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 102.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.14 พันล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 15:56 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 124.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.22% สูงสุดที่ระดับ 124.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 123.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.48 พันล้านบาท

ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา 16:01 น. อยู่ที่ระดับ 164.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 1.23% สูงสุดที่ระดับ 164.50บาท ต่ำสุดที่ระดับ162.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.10 พันล้านบาท

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ณ เวลา 16:02 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 55.25 บาท บวก 0.75 บาท หรือ1.38% สูงสุดที่ระดับ 55.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 54.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 128.02 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 16:03 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.71 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 3.01% สูงสุดที่ระดับ 1.72 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.67 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 441.61 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 15:56 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 18.80 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 1.08% สูงสุดที่ระดับ 18.80 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 18.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 354.66 พันล้านบาท

ด้านนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% และในปี 2567 ขยายตัว 4.4% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดในปี 2566 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.6% และในปี 2567 อยู่ที่ 2.6% โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.4 และในปี 2567 อยู่ที่ 2.0%  ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด

อีกทั้งระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ด้านภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต

สำหรับภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ด้านบล.อาร์เอชบีระบุในบทวิเคราะห์วันนี้( 27 ก.ย.66) ว่า การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับผลประชุมกนง. ในวันนี้(27) ค่อนข้างเสียง แตก มีทั้งคาดว่าจะปรับขึ้นและไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเราคาดว่ากนง. จะปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ย เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก และเสริมสร้างเสถียรภาพในการกำหนด นโยบายทางการเงิน เพื่อรองรับไม่แน่นอนในอนาคต หรือเก็บกระสุนเตรียมไว้ สําหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ถ้าเฟดเริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วง ครึ่งหลังของปีหน้า

อย่างไรก็ตามมองหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ BBL, KTB, TTB ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงยังคงกดดันต่อกลุ่มการเงิน อสังหาและโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า เงินบาทยังอ่อนค่า และมีโอกาสที่จะไปแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ จึงคาดว่าการประชุม กนง. วันนี้ ธปท. มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

Back to top button