กนง. มองนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ดันเศรษฐกิจปี 67 โตเกิน 4%
กนง. เชื่อมั่นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ไม่กระทบเครดิตประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยปี 67 โตกว่า 4.4% หรือขยายตัวเพิ่ม 0.3-0.6 เท่า
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ภายหลังกนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.50% โดยมีผลทันทีว่า ในระยะสั้นหากภาพรวมเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง ก็เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจระดับศักยภาพในระยะยาว
ส่วนระยะสั้น ต้องคำนึง 3 ปัจจัย คือ 1. ต้องแน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับศักยภาพ 2. เงินเฟ้อได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3. ระบบการเงินโดยรวมยังทำงานได้ดี ไม่มีปัญหา ขณะที่ความไม่แน่นอนก็ค่อนข้างมาก ทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่แน่นอน และมาตรการภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน
โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่ 4.4% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% นั้น เป็นการรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการคลัง โดยเฉพาะผลจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5.6 แสนล้านบาทไว้แล้ว และหากไม่มีมาตรการดังกล่าวแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้
“เครื่องยนต์เศรษฐกิจในปีหน้า จะกลับมาฟื้นตัวเต็มสูบ จากอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง และภาคต่างประเทศที่กลับมาขยายตัว รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น” นายปิติ กล่าว
สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามรายละเอียด ซึ่งตอนนี้ยังมีความชัดเจนไม่มาก ทั้งในประเด็นการจัดหาแหล่งเงิน รูปแบบมาตรการ และระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งผลต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
นายปิติ กล่าวเพิ่มว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.3-0.6 เท่า หรือขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับผลของมาตรการ ซึ่งมาตรการนี้ (ดิจิทัลวอลเล็ต) หากทำสำเร็จไม่ว่าจะมารูปแบบไหนก็ตาม จะทำให้ GDP โตอย่างน้อย 4%
ทั้งนี้ ส่วนผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเครดิตประเทศนั้น นายปิติ ยอมรับว่า การจัดหาแหล่งเงินก็จะมีส่วนในการพิจารณาของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเครดิตประเทศ แต่ก็มั่นใจว่ารัฐบาลจะหาทางออกที่ดีที่สุดในการจัดหาแหล่งเงิน
ขณะที่ในระยะยาว ยังมั่นใจว่าภาคการคลังมีเสถียรภาพเพียงพอ เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ โดยมีระดับหนี้สาธารณะไม่สูงมาก และถ้าเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ การก่อหนี้ การใช้คืนหนี้ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับ
“แต่ผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนของมาตรการ และความเป็นห่วงในเรื่องอุปทานพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาดว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายปิติ กล่าวทิ้งท้าย