สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ก.ย.2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ก.ย.2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (27 ก.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี รวมทั้งความกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,550.27 จุด ลดลง 68.61 จุด หรือ -0.20%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,274.51 จุด เพิ่มขึ้น 0.98 จุด หรือ +0.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,092.85 จุด เพิ่มขึ้น 29.24 จุด หรือ +0.22%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพุธ (27 ก.ย.) เป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของยุโรปร่วงลงหลังจากโบรกเกอร์มีความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษ ขณะที่หุ้นกลุ่มประกันของเนเธอร์แลนด์ร่วงลงหลังการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจในเชิงลบ และหุ้นธนาคารยูบีเอสปรับตัวลงด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 446.91 จุด ลดลง 0.79 จุด หรือ -0.18% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,071.79 จุด ลดลง 2.23 จุด หรือ -0.03%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,217.45 จุด ลดลง 38.42 จุด หรือ -0.25% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,593.22 จุด ลดลง 32.50 จุด หรือ -0.43%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพุธ (27 ก.ย.) โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หลังเจฟเฟอรีส์เปิดเผยว่า ตลาดสำนักงานในกรุงลอนดอนอยู่ในภาวะซบเซา

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,593.22 จุด ลดลง 32.50 จุด หรือ -0.43%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในวันพุธ (27 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจะยิ่งทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเผชิญภาวะตึงตัว

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 3.29 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 93.68 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2566

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 2.59 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 96.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2565

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือนในวันพุธ (27 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ การที่สัญญาทองคำดิ่งหลุดจากแนวรับที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงขายทางเทคนิค

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 28.90 ดอลลาร์ หรือ 1.51% ปิดที่ 1,890.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2566

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 47.20 เซนต์ หรือ 2.03% ปิดที่ 22.724 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 17.90 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 896.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1223.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (27 ก.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ระดับ 106.6639

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 149.5950 เยน จากระดับ 149.0710 เยนในวันอังคาร (26 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9208 ฟรังก์ จากระดับ 0.9152 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0471 โครนา จากระดับ 11.0285 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3510 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ  1.3521 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0508 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0566 ดอลลาร์ในวันอังคาร ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2137 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2157 ดอลลาร์

Back to top button