NL จ่อส่งไอพีโอ เข้าเทรด SET ไตรมาส 4/66 ชูชำนาญงานก่อสร้างระบบซับซ้อน

“เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์” ลุ้นเข้าเทรด SET ไตรมาส 4/66 เสนอขายหุ้นไอพีโอ 130 ล้านหุ้น วัตถุประสงค์ระดมทุนเพื่อนำเงินซื้อเครื่องจักร-ทุนหมุนเวียน และรองรับการขยายตัวธุรกิจให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน ย้ำจุดแข็งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานก่อสร้างอาคารระบบซับซ้อนงานรัฐ-เอกชนครบวงจร


นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ NL เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนของ NL ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็น 26% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) หมวดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON)

ขณะที่ ก.ล.ต. ได้มีการนับหนึ่งไฟลิ่ง NL ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมจะเดินสายโรดโชว์และพิจารณาผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO และคาดจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 130 ล้านหุ้น และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ SET ได้ภายในไตรมาส 4/2566

ด้านนายศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา กรรมการผู้จัดการ NL เปิดเผยว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ NL ที่สั่งสมมามากกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทปี 2524 ส่งให้บริษัทฯมีผลงานการให้บริการงานก่อสร้างหลากหลายประเภท ซึ่งบางประเภทอาคารหรือบางรูปแบบอาคารต้องอาศัยเทคนิคการก่อสร้างระบบซับซ้อนและความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยสามารถแบ่งประเภทงานรับเหมาก่อสร้างของบริษัทฯ ออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) สถานพยาบาล 2) อาคารสำนักงานและเพื่อการพาณิชย์ 3) อาคารพักอาศัย 4) อาคารพิเศษ และ 5) งานก่อสร้างอื่นๆ

ทั้งนี้จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้บริษัทฯยังได้นำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้ในการถอดแบบแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้าง ทำให้การวิเคราะห์ การควบคุมงานออกแบบ การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากการเข้าไปรับงานก่อสร้างอาคารโรงเรียนโยธินบูรณะมูลค่าโครงการ 965.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาคารที่มีความพิเศษทางวิศวกรรมโครงสร้าง และเป็นอาคารแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี Building Automation System มาใช้ในการบริการจัดการการใช้อาคารเพื่อให้การออกแบบออกเสมือนจริงและตรงตามความต้องการลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทฯเล็งเห็นโอกาสในการเข้ารับงานก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล สถานพยาบาล เนื่องจากธุรกิจทางการแพทย์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub บริษัทฯจึงเข้าร่วมประมูลงานโรงพยาบาลและสถานพยาบาลมากขึ้น

โดยบริษัทได้รับงานก่อสร้างอาคารสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ อาคารศูนย์ความก้าวหน้าทางวิชาการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีมูลค่า 1,447.70 ล้านบาท และ อาคารผู้ป่วยนอก 9 ชั้น และที่จอดรถใต้ดิน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีมูลค่า 1,617 ล้านบาท ซึ่งมีความซับซ้อนในการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดินที่มีความลึก 18 เมตรและติดแม่น้ำเจ้าพระยา

นายศรันย์ กล่าวอีกว่า จากผลงานดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าบริษัทเป็นผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และส่งมอบผลงานได้ตามความต้องการของผู้ว่าจ้างโดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ทำให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไรอย่างมั่นคง โดยมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหาร และคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากโครงสร้างการรับเหมาก่อสร้างตามประเภทผู้ว่าจ้างดังนี้ 1.หน่วยงานราชการเช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรมราชทัณฑ์ มีสัดส่วนประมาณ 70-72% ,2.รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐประเภทอื่น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย มีสัดส่วนประมาณ 15% และ 3.หน่วยงานเอกชน เช่น บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง,บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์,โรงพยาบาลพระรามเก้า และมูลนิธิต่างๆ มีสัดส่วนประมาณ 15% เป็นต้น

สำหรับการเข้าจดทะเบียนใน SET ครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทด้วยการเพิ่มศักยภาพขององค์กร เดินหน้างานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจรแบบ One-Stop Service ยกระดับงานก่อสร้างที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญของ NL เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ประกอบการงานก่อสร้างมืออาชีพชั้นแนวหน้า

ส่วนมีวัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ก็เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2567 รองรับการขยายตัวของธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2563-2565 มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างเติบแข็งแกร่ง โดยในปี 2563 อยู่ที่ 1,690.75 ล้านบาท ต่อมาในปี 2564 อยู่ที่ 1,384.79 ล้านบาท และในปี 2565 อยู่ที่ 1,218.79 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 66 บริษัทฯมีรายได้รวม 1,148.54 ล้านบาท เป็นรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 1,142.56 ล้านบาท และรายได้อื่น 5.98 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 148.82% และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 67.53 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 5.91%

“ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะเติบโตโดดเด่นหลังครึ่งปีแรก 2566 ทำผลงานโดดเด่นมากกว่าทั้งปี 2565 เนื่องจากผลงานมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังได้รัฐบาลเข้ามาก็เชื่อว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ออกมาต่อเนื่อง และเชื่อว่าการเข้าตลาดฯจะเข้ามาขยายศักยภาพและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทได้เหมือนเดิมก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ” นายศรันย์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button