“ขันเงิน” พลิกโฉม ZAA ดันซอฟต์พาวเวอร์ รุกอีเวนต์เต็มสูบ ปักธงรายได้ปี 67 โต 10%
ขันเงิน เนื้อนวล เปิดตัวชื่อใหม่ "ซาเล็คต้า" มั่นใจรับรัฐบาลดันนโยบาย Soft Power หนุนธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เดินหน้าจัดงานอีเวนต์ภูเก็ต พ.ย.นี้ จ่อเปิดตัวภาพยนตร์ใหม่ 1 เรื่องปลายปีนี้ ปักหมุดรายได้ปี 67 โต 10% วางเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นผู้นำเอ็นเตอร์เทนเม้นท์แนวใหม่ครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายขันเงิน เนื้อนวล กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ซาเล็คต้า จำกัด(มหาชน) หรือ ZAA (ชื่อเดิมเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์) นำทีมผู้บริหารบริษัทประกอบด้วย นายจิรัชย์ วงษ์ตระหง่าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายทรงพล เชาวนโยธิน ประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2566 ดีต่อเนื่อง รับรัฐบาลสนับสนุน Soft Power โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะยกระดับสู่การเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์แนวใหม่ครบวงจรที่มีพันธมิตรด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสนำไปสู่การลงทุนและทำธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นเมกะเทรนด์โลก โดยวางเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า ZAA จะต้องเป็นผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเดินหน้าจัดงานคอนเสิร์ตแนว HipHop โดยนักร้อง โต้ง ทูพี ในงาน South Side Festival จังหวัดภูเก็ต คาดว่าเริ่มจัดเดือนพฤศจิกายน 2566 มั่นใจนักท่องเที่ยวคึกคัก หลังจากรัฐบาลเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
ส่วนธุรกิจเดิมของกลุ่ม ZAA คือธุรกิจผลิตภาพยนตร์จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยปลายนี้มีแผนที่จะเปิดตัวภาพยนต์ใหม่อีก 1 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยตั้งเป้าแต่ละปีให้ได้ 2-3 เรื่อง นอกจากนี้บริษัทมีแนวคิดที่จะนำธุรกิจใหม่ๆ เข้าไปเชื่อมโยงต่อยอดกับธุรกิจเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเดิม
รวมทั้งบริษัทมีพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนต่างๆ โดยมี นายเป็นเอก รัตนเรือง และ Wednesday Co., Ltd. ทำ event & festival รวมถึง Muze Innovation ทำเกี่ยวกับ Tech partner- digital vibe setter
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าปีหน้ารายได้ของบริษัทจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10 % ส่วนมาร์จิ้น Event คาดอยู่ที่ 50% โดยปีหน้าสัดส่วนรายได้จะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจบันเทิงรูปแบบใหญ่ เช่น การจัดอีเว้น คอนเสิร์ต ตลอดจนการให้การสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ โดยธุรกิจใหม่ดังกล่าว จะเริ่มในปี 2567 เป็นต้นไป
โดยวางงบลงทุนปี 2567 แบ่งเป็นส่วนของหนังประมาณ 60-70 ล้านบาท และงานอีเว้นต์ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งในงานอีเว้นต์จะสามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ 3-4 เดือนเป็นต้นไป รวมถึงมีรัฐบาลสนับสนุน Soft Power เชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันให้เป็นผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้มีการวางแผนลงทุนในต่างประเทศ โดยมองว่าเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลี คาดว่าจะทำเกี่ยวกับงานคอนเสิร์ต