“เศรษฐา” หารือผู้ว่า “ธปท” คาดถกดอกเบี้ย-เงินดิจิทัล

“เศรษฐา” นัดหารือ “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าการธปท. วันนี้ คาดคุยกันเรื่องอัตราดอกเบี้ยและเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผู้ว่าการธปท.ย้ำ ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นถือว่าเหมาะสม มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและคุมเงินเฟ้อ ด้านนายกสมาคมบลจ. คาดหารือเพื่อหาทางออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นัดหารือในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นการหารือในประเด็นใด แต่ตนพร้อมตอบทุกคำถาม

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการนัดหมายดังกล่าว แต่ยืนยันได้ว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีผลกระทบทางการเงินการคลังของประเทศ โดยแหล่งที่มาของเงินนั้นรัฐบาลมีการคิดอย่างละเอียดและชัดเจน แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ คงต้องรอความชัดเจนเรื่องการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตให้เรียบร้อยก่อน

นายเศรษฐพุฒิ ยังได้กล่าวถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า กนง.ได้ให้น้ำหนักกับมุมมองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมานานมาก จนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสร้างพฤติกรรม Search for yield ดังนั้นการทำนโยบายการเงินจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ดูเฉพาะข้อมูลรายวันหรือข้อมูลระยะสั้นที่มักจะมีความผันผวนอยู่ตลอด

ทั้งนี้ ธปท.ไม่ต้องการจะเป็นแหล่งที่สร้างความผันผวนให้เพิ่มมากขึ้นในตลาดการเงิน เพราะปัจจุบันความผันผวนในตลาดก็มีมากพออยู่แล้ว ซึ่งแนวโน้มข้างหน้ามองว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อระยะยาวจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรตัดสินใจทำนโยบายการเงินจากแค่ข้อมูลเฉพาะหน้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ 2.50% นั้น คงจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักพัก โดยระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่หากในระยะข้างหน้ามุมมองเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กนง.ก็พร้อมที่จะ take action อย่างใดอย่างหนึ่ง

ผู้ว่าการธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ธปท.ยังกังวล โดยในระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม คือปัญหาเอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก เพราะตะกร้าเงินเฟ้อมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มอาหารอยู่มาก ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ต้องติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

“ถ้า Outlook ข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยจากที่เราคาดไว้ กนง.ก็พร้อมจะ take action แต่ถ้า outlook ออกมาสอดคล้อง ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เรามองไว้ ดอกเบี้ยก็คงอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักพัก แต่ธปท.ไม่ยืนยันว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่” ผู้ว่าการธปท. กล่าว

สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า การที่ค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวน มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลักจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่การที่เงินบาทผันผวนมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เป็นเพราะค่าเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออก

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุด ไม่ใช่ทำเพื่อสกัดเงินไหลออก และการอ่อนค่าของเงินบาท แต่เป้าหมายของการดูแลค่าเงินคือ คำนึงถึงเสถียรภาพและผลกระทบต่อเงินเฟ้อทางอ้อม

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันนี้ (2 ต.ค. 2566) น่าจะเป็นการเรียกเข้าไปหารือเรื่องความร่วมมือในการหาทางออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อคน ตามที่รัฐบาลได้มีการหาเสียงไว้

ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวอาจทำให้ประเทศไทยมีโอกาสขาดดุลเพิ่มขึ้น จากที่ปัจจุบันขาดดุลอยู่แล้ว ดังนั้นแหล่งเงิน 5 แสนกว่าล้านบาทนี้ต้องชัดเจน ขณะที่ฝั่งธปท.เป้าหมายหลักคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ที่สำคัญมีผลต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยยังคงอิงกับเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก

สำหรับด้านการลงทุน ในมุมมองของนักลงทุนสถาบันนั้น หลังตัวเลขเงินที่ใช้กับนโยบายรัฐมากกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้กองทุนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไหลออก เพื่อรอดูความชัดเจนของแหล่งเงิน และนอกจากเรื่องแหล่งที่มาแล้ว จะกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างไร จากที่ประเมินภาพรวมรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในกรณีนี้ จึงนำเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางการลงทุนช่วงนี้ จังหวะสะสมหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินล่าสุด หนุนให้รายได้ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังไม่สูงมาก รวมถึงกลุ่มเฮลท์แคร์ ที่สามารถรับมือได้ทุกสถานการณ์การลงทุน และเชื่อว่าดัชนีสิ้นปีนี้ยังมีโอกาสเข้าสู่เป้าหมายที่ 1,640 จุด

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การหารือของนายกฯ และผู้ว่าการธปท. คาดจะเกี่ยวกับเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต

Back to top button