SCB ดึงพันธมิตรยักษ์เทคโลก รุกหนักตั้ง “เวอร์ชวลแบงก์” พ.ย.นี้
SCB พร้อมเปิดผู้ร่วมทุนอีกรายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อลุย “เวอร์ชวลแบงก์” เผยเป็นพันธมิตรที่เก่งด้านเทคโนโลยีระดับโลก ด้านอาทิตย์ สวน โบรกฯ ตปท. ที่มีมุมมองเชิงลบ หากไม่ปรับเปลี่ยนไม่เติบโต
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ Virtual Bank มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ดังนั้น SCB ได้ดึงพันธมิตรด้านเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วมลงทุนในการจัดตั้ง Virtual Bank ครั้งนี้ด้วย โดย SCB ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา
ทั้งนี้ พันธมิตรรายใหญ่จะมีการเปิดตัวเดือน พ.ย. 2566 และมั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้กับ Virtual Bank มีความแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ SCB ได้เปิดตัว KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ที่เข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย 20%
“ความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กรในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง” นายอาทิตย์ กล่าว
โดยกรณีที่หลังบริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UBS และบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JPM ได้ downgrade หุ้น SCB ประเด็นนี้ไม่มีอะไรต้องชี้แจง เนื่องจากบริษัทมีตัวเลขต่าง ๆ ชัดเจนในการให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากมีการชี้แจงแล้วไม่เชื่อในตัวเลขดังกล่าวนั้น ก็ไม่เป็นไร ขอให้รอดูกันต่อไป
“การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงเข้ามาด้วยบ้างนิดหน่อย แต่หากเราไม่ปรับเปลี่ยน รายได้จะไม่เติบโต โดยบริษัทยังเชื่อมั่นในแผนธุรกิจทั้งหมด และยังมีการปรับแผนใด ๆ สำหรับปีนี้” นายอาทิตย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอาทิตย์ ได้กล่าวในงาน 36 ปี กรุงเทพธุรกิจ Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today ในหัวข้อ “บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตธุรกิจไทย” ว่า เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แหล่งเงินทุนในการนำมาใช้พัฒนาประเทศที่มีจำกัด หลังจากเพดานหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 60% แล้ว แต่ในเมื่อได้เลือกผู้นำประเทศเข้ามาแล้ว ควรให้โอกาสเขาในการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น เพื่อลดข้อจำกัดในการเร่งพัฒนาประเทศให้ได้ตามแผน จึงมีข้อแนะนำภาครัฐ 4 ข้อ ในการพึ่งพาในการพัฒนาประเทศ คือ 1.ใช้ Outsource จากองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในเรื่องของการลงทุน 2.ใช้รัฐวิสาหกิจที่มีความแข็งแกร่ง 3.ปรับเปลี่ยนงบการลงทุนมากขึ้นเกิน 20% หากภาครัฐไม่สามารถพึ่งพาจากทั้ง 3 หัวข้อดังกล่าวได้ แนะใช้ข้อที่ 4 คือการกู้เงิน และภาครัฐจะต้องไม่กลัวการกู้เงินระยะยาวในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยนี้
ขณะที่ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้ว่า SCB จะมีคุณภาพสินเชื่อด้อยกว่าธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB แต่ด้วยการเติบโตของกำไรที่อยู่ในระดับสูงถึง 18.6% ปีนี้ และ 13.8% ปี 2567 รวมถึงการจ่ายปันผลระดับสูง จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB พร้อมเป้าราคาพื้นฐาน 130 บาท ตามเดิม
บริษัท ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ยังแนะ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 133 บาท คาดกำไรไตรมาส 3/2566 ที่ 11,296 ล้านบาท อ่อนตัว 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ยังดีขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเติบโตต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอาจอ่อนตัว จากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองหนี้อาจลดลงจากไตรมาส 2/2566 ที่มีการตั้งสำรองส่วนเกิน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus จาก 19 โบรเกอร์ ประมาณการ SCB จะมีรายได้รวมไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 41,107.78 ล้านบาท รายได้รวมปี 2566 อยู่ที่ 171,300.59 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 11,326.75 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 44,267.09 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 126.34 บาท