ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่ง ยกระดับเกณฑ์-เครื่องมือบริหาร “กองทุน ETF”

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็น ยกระดับกองทุนรวม ETF ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อรองรับกลยุทธ์การบริหารจัดการเชิงรุก รวมถึงพิจารณาดัชนีอ้างอิง ขณะที่เร่งเพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการ และดูแลเกณฑ์การขายของบริษัทหลักทรัพย์ เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุน


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สนับสนุนการพัฒนากองทุนรวม Exchange Traded Fund หรือ  ETF ให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ลงทุนในการลงทุนในผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่ง ETF เป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยสามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในราคาซื้อขายปัจจุบัน (real time) เหมือนหลักทรัพย์จดทะเบียน แต่มีการกระจายการลงทุนเหมือนกองทุนรวมทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) โดยหลักเกณฑ์ปัจจุบันสามารถรองรับได้เฉพาะ ETF ที่บริหารจัดการในลักษณะเชิงรับ (passive ETF) ตามดัชนีที่กำหนดเท่านั้น

โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือ ก.ต.ท. ในการประชุมครั้งที่ 5/66 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 และครั้งที่  6/66 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ ETF ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่อไปนี้

1.หลักการและร่างประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ ETF เพื่อให้รองรับ ETF ที่มีกลยุทธ์การบริหารจัดการเชิงรุก (active ETF) เพิ่มเติมจาก passive ETF ในปัจจุบัน และเพิ่มประเภททรัพย์สินที่ ETF สามารถลงทุนได้ ให้ครอบคลุมตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์เช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาดัชนีอ้างอิง (underlying index) หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลหลักทรัพย์ที่กองทุนถือไว้ (portfolio holding) และหลักเกณฑ์ของ ETF ต่างประเทศที่นำมาเสนอขายในประเทศให้สอดคล้องกับ ETF ที่จัดตั้งในไทย และมาตรฐานสากล

2.หลักการสำหรับการพัฒนา inverse ETF เพื่อเพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลดลงของดัชนีอ้างอิง โดยเฉพาะผลตอบแทนรายวัน แต่กองทุนรวมประเภทนี้มีผลตอบแทนและการคำนวณต้นทุนที่ซับซ้อนกว่า ETF ทั่วไป จึงอาจจำกัดผลตอบแทนในทิศทางตรงข้าม (inverse) ไม่เกินหนึ่งเท่าของดัชนีอ้างอิง [-1เท่า] ก่อนในช่วงแรก และกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลลักษณะผลิตภัณฑ์และความเสี่ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการขายของบริษัทหลักทรัพย์ให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนโดยยังคงคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน

Back to top button